วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน "ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT"

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.30 น.  ดร.ศิริชัย นามบุรี  รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประชุมผู้บริหารสำนักวิทยบริการฯ และบุคลากรในงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและงานระบบเครือข่าย ศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย เพื่อรับทราบปัญหาการดำเนินงานที่ผ่านมา และหาแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งหรือระบบการเรียนการสอนที่ใช้ ICT เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ซึ่งที่ประชุมสรุปปัญหาที่พบได้แก่ 1) ปัญหาด้านฮาร์ดแวร์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2) ซอฟต์แวร์ของระบบ LMS 3) การขาดการขับเคลื่อนและบริการเชิงรุก 4) คณาจารย์ผู้สอนยังให้ความสนใจน้อย เนื่องจากขาดแรงจูงใจ 5) ขาดนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 6) ไม่มีหน่วยงานบริการที่ชัดเจน

     ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2557  โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จไว้ คือ อาจารย์ผู้สอนมีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง ร้อยละ 50 ของอาจารย์ผุ้สอนทั้งหมด  คณะกรรมการในที่ประชุมมีมติ โดยสรุป คือ
     1) แต่งตั้้งคณะกรรมการขับเคลื่อนขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและระดับคณะ เป็นคณะกรรมการอำนวยการ บุคลากรในงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ฝ่ายพัฒนาระบบเครือข่าย และนักวิชาการคอมพิวเตอร์จากแต่ละคณะ เป็นคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมีงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อน

    2) ให้พัฒนาโครงการเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนโดยใช้ ICT โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ จัดตั้ง "ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย ICT" เป็นหน่วยทำงานที่มีภาระกิจเฉพาะในการส่งเสริมสนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่คณะจารย์ในการใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งและใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้หรือการเรียนการสอน  บริการให้ความรู้นักศึกษาในการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง จัดฝึกอบรมเทคนิคการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งให้แก่คณาจารย์ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์ฯ โดยเน้นการทำงานเชิงรุกมากกว่าภารกิจปกติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
   3) ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและคณะ  กำหนดนโยบายให้คณาจารย์จัดการเรียนการสอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง เป็นองค์ประกอบตัวชี้วัดระดับบุคคล (KPI) สำหรับการประเมินคุณภาพการปฏิบัติงานสอนของคณาจารย์ และการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี
   4) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง เน้นการใช้ "กิจกรรมเป็นฐาน (Activity Based Learning: ABL) โดยใช้ระบบ Moodle LMS เป็นเครื่องมือ โดยให้ฝ่ายเครือข่ายฯ ทำการปรับปรุงระบบเครื่องแม่ข่าย ระบบ Moodle LMS เป็นรุ่นใหม่ ย้ายรายวิชามาไว้เพียงระบบเดียว ระบบลงทะเบียนของนักศึกษาในระบบอีเลิร์นนิ่งใช้ฐานข้อมูล LDAP เพื่อสะดวกในการลงทะเบียนจำนวนมาก
     ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก อ.นิมารูนี หะยีวาเงาะ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอก (ปร.ด.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมนำเสนอผลการวิจัยด้านศักยภาพและความคาดหวังสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  ซึ่งสารสนเทศที่นำเสนอนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาปรับปรุงแผนการพัฒนาระบบการสอนโดยใช้ระบบอีเลิร์นนิ่ง ยกตัวอย่างเช่น  แรงจูงใจภายในและภายนอก เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้สอนสนใจการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง นโยบายผู้บริหารเป็นปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่ง


ไม่มีความคิดเห็น: