วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โครงการพัฒนาอีเลิร์นนิ่ง: ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานครั้งที่ ๒

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556  เวลา 14.00-16.00 น.   ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย ร่วมประชุมกับคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย บุคลากรฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา คุณรัตนาภรณ์ ศรีหาพล และคุณธนภัทร นาคิน พร้อม อ.อิสมาแอ ล่าเตะเกะ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ บุคลากรศูนย์คอมพิวเตอร์ และคณาจารย์ตัวแทนจากคณะต่างๆ รวมทั้ง อ.นิมารูนี หะยีวาเงาะ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้โดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ)  เข้าร่วมประชุมเพื่อหารับทราบนโยบาย เป้าหมาย และมาตรการส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งอย่างเป็น รูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ในปี ๒๕๕๗ ที่กำหนดให้ อาจารย์ร้อยละ ๕๐ (จากจำนวน 296 คน) มีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง มติทีประชุมที่สำคัญให้มีมาตรการดังนี้ ได้แก่
  • เสนอมหาวิทยาลัย กำหนดนโยบายสนับสนุนการพัฒนาระบบอีเลิร์นนิ่งชัดเจน ผลการสอนให้เชื่อมโยงกับ KPI ผลการปฏิบัติงานสอน ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มีประกาศหรือกฎระเบียบรองรับการดำเนินงาน
  • ตั้งศูนย์ "อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย ICT"  เป็นศูนย์เฉพาะกิจขับเคลื่อนอีเลิร์นนิ่งขึ้นที่อาคารสำนักวิทยบริการฯ ชั้น 6 พร้อมให้บริการทั้งผู้สอนและผู้เรียน มีบุคลากรประจำ ๒ คน คือ คุณรัตนาภรณ์ ศรีหาพล และคุณธนภัทร นาคิน จากงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  • พัฒนาเว็บไซต์ ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย ICT มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล (http://aritc.yru.ac.th/elearning
  • ประชาสัมพันธ์ข่าวกิจกรรมของศูนย์อีเลิร์นนิ่งอย่างต่อเนื่องในสื่อทุกประเภท ทั้งแผ่นพับ เว็บไซต์ Facebook  สถานีวิทยุ เป็นต้น
  • มีหลักสูตรอบรมผู้สอนและผู้เรียนอย่างเป็นระบบ (ประเมินผลและมอบเกียรติบัตร) โดยยึดรูปแบบการอบรมอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายชัดเจน
  • พัฒนาคู่มือวิทยากร คู่มือผู้สอน และคู่มือผู้เรียนในระบบอีเลิร์นนิ่ง
  • มีการมอบเกียรติบัตร รางวัลแก่ผู้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการสอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย
  • การปรับปรุงเครื่องแม่ข่ายบริการอีเลิร์นนิ่งให้ใช้ร่วมกัน
  • แต่ละคณะร่วมรับผิดชอบตัวชี้วัด โดยกำหนดให้แต่ละหลักสูตรต้องส่งผู้สอนเข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของอาจารย์ประจำหลักสูตร
  • กำหนดให้ผู้สอนนำผลคะแนนจากระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้ในการวัดผลในรายวิชา  อย่างน้อย ๑๐%
    ผลการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ จะได้นำเสนอให้มหาวิทยาลัยและคณะหาแนวทางสนับสนุนให้สามารถดำเนินการในการพัฒนาการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งให้บรรลุเป้าประสงค์ต่อไป สำหรับการจัดอบรมผู้สอน โดยจะสำรวจความต้องการในเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ และจัดอบรมให้แก่คณาจารย์ใหม่และคณาจารย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และประเมินภาพรวมตามตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ ประมาณ เดือนเมษายน  ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คุยกับอธิการบดี (16 พ.ย. 56)

สวัสดีชาว มรย. ที่รักทุกคน

 หลังจากได้เปิดเทอม 2/2556 มาสองสัปดาห์ อาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาได้เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ชัดเจน ทั้งการย้ายสำนักงานคณะไปตึกใหม่ทั้งในส่วนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ ซึ่งลำดับต่อไปจะเป็นช่วงของการดำเนินการบริหารจัดการเพื่อให้สถานที่ทำงานของอาจารย์และบุคลากรมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งอุปกรณ์ ครุภัณฑ์การเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อไป ขณะเดียวกัน ในเทอมนี้ได้มีการจัดระบบจราจรซึ่งเป็นหนึ่งใน วิสัยทัศน์ 59 โครงการ และก่อนปีใหม่เราจะมีจอ LED ขนาด 3x4 เมตร เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การปรับปรุงหอประชุมเล็กให้มีระบบแสง สี เสียงที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เกี่ยวกับการจอดรถและการจราจรภายในมหาวิทยาลัยของเรา

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมคณะกรรมการศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2556  เวลา 11.00 น.  ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมคณะทำงานโครงการจัดตั้ง "ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" ประกอบด้วย ผอ.ปรีชา พังสุบรรณ อ.นูรีดา จะปะกียา รองผู้อำนวยการฯ  ผศ.ดร.สุกินา อาแล ประธานกรรมการดำเนินงานศูนย์ภาษา ผศ.นิชาภัทรชย์ รวิชาติ  ประธานกรรมการดำเนินงานอาเซียนศึกษา พร้อมคณะทำงาน ร่วมประชุมเพื่อกำหนดโครงการและกิจกรรม พร้อมเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อเสนอกรอบวงเงินของบประมาณในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ (ระยะเวลาการเสนอและใช้งบประมาณ ปี 2558-2562) การจัดสรรงบประมาณขึ้นอยู่กับผลงานและตัวชี้วัดที่กำหนดที่เน้นการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา และการพัฒนาท้องถิ่น
  
     สำหรับวัตถุประสงค์ในการร่วมกันกำหนดโครงการและกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา (ซึ่งเดิมไม่มีในโครงสร้างของหาวิทยาลัย) ให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนคุณภาพการศึกษาในด้านภาษาและอาเซียนศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะ "ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย (ซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่)ภาษามลายูกลาง ภาษาจีน ภาษาอาหรับ " ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด อีกทั้ง ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษายังสามารถเป็นแหล่งบริการชุมชนและบุคลากรองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในด้านการพัฒนาภาษาและการให้ความรู้เกี่ยวกับปรุะชาคมอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558  ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โครงการลาน ICT เพื่อการเรียนรู้ เปิดให้บริการ ณ บริเวณใต้หอประชุมหลังใหญ่


     สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และงานพัฒนาระบบเครือข่าย ศูนย์คอมพิวเตอร์ ประกาศเปิด ลาน ICT  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ บริเวณใต้หอประชุมหลังใหญ่ โดยเปิดให้บริการสัญญาณ  Wifi ถึงเวลา 24.00 น. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป  โดยการใช้บริการดังกล่าวให้นักศึกษาปฏิบัติ ดังนี้



1. ให้นำคอมพิวเตอร์ Notebook, Netbook หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ เช่น Smart Phone, Tablet ไปลงทะเบียนการใช้บริการกับฝ่ายพัฒนาระบบเครือข่าย ณ อาคารสำนักวิทยบริการฯ ชั้น 3 เฉพาะอุปกรณ์ของตนเองเท่านั้น คนละไม่เกิน 2 อุปกรณ์ (หากมีความจำเป็นต้องการใช้มากกว่า 2 อุปกรณ์ สามารถยื่นคำร้องขอเป็นกรณีพิเศษได้)

2. เพื่อความเป็นระเบียบห้ามเคลื่อนย้ายโต๊ะและเก้าอี้ที่จัดไว้ให้ และให้นักศึกษานำปลั๊กไฟมาเอง เพื่อความสะดวกในการใช้บริการ

3. การใช้บริการห้องน้ำ ให้นักศึกษาใช้ห้องน้ำที่หอประชุมปีกซ้าย

4. การจอดรถจักรยานยนต์ ให้จอดบริเวณที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยกำหนดให้เท่านั้น บริเวณถนนคอนกรีตรอบๆ ปีกหอประชุมหลังเล็กเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและการตรวจสอบ

5. หลังจากใช้บริการแล้ว ให้ตรวจสอบดูแลความเรียบร้อย ห้ามทิ้งขยะ เศษอาหารไว้บนโต๊ะและที่พื้นหอประชุม (มีกล้องวงจรปิดบันทึกพฤติกรรมผู้ใช้บริการตลอดเวลา)

6. ห้ามนำบุคคลภายนอกมาใช้บริการ หากตรวจสอบพบ จะพิจารณาตัดสิทธิ์การใช้บริการเป็นรายกรณีไป

    เพื่อความเรียบร้อยและความสะดวกในการดูแลรักษาความปลอดภัยของฝ่ายรักษาความปลอดภัย ขอความร่วมมือให้นักศึกษาทุกคนที่มาใช้บริการปฏิบัติตนตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด  ทั้งนี้ จะได้มีการประเมินผลการใช้บริการเป็นระยะๆ ต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โครงการจัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติทดแทนระบบเดิม ของสำนักวิทยบริการฯ

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00-12.00 น.  ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะผู้บริหารสำนักวิทยบริการฯ ผอ.ปรีชา พังสุบรรณ พร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอ "ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ALIST" โดยคุณเนาวรัตน์ สอิด หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมงาน ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (http://www.alist.psu.ac.th)  การประชุมครั้งนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอัตโนมัติเดิม ได้เสนอประเด็นปัญหาของระบบเดิม รวมทั้งสอบถามเกี่ยวกับความสามารถใหม่ของระบบ ALIST ที่จะตอบสนองการทำงานได้ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลนักศึกษา กองบริการการศึกษา

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน "ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT"

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.30 น.  ดร.ศิริชัย นามบุรี  รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประชุมผู้บริหารสำนักวิทยบริการฯ และบุคลากรในงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและงานระบบเครือข่าย ศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย เพื่อรับทราบปัญหาการดำเนินงานที่ผ่านมา และหาแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งหรือระบบการเรียนการสอนที่ใช้ ICT เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ซึ่งที่ประชุมสรุปปัญหาที่พบได้แก่ 1) ปัญหาด้านฮาร์ดแวร์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2) ซอฟต์แวร์ของระบบ LMS 3) การขาดการขับเคลื่อนและบริการเชิงรุก 4) คณาจารย์ผู้สอนยังให้ความสนใจน้อย เนื่องจากขาดแรงจูงใจ 5) ขาดนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 6) ไม่มีหน่วยงานบริการที่ชัดเจน

     ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2557  โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จไว้ คือ อาจารย์ผู้สอนมีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง ร้อยละ 50 ของอาจารย์ผุ้สอนทั้งหมด  คณะกรรมการในที่ประชุมมีมติ โดยสรุป คือ
     1) แต่งตั้้งคณะกรรมการขับเคลื่อนขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและระดับคณะ เป็นคณะกรรมการอำนวยการ บุคลากรในงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ฝ่ายพัฒนาระบบเครือข่าย และนักวิชาการคอมพิวเตอร์จากแต่ละคณะ เป็นคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมีงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อน

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2556  รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ดร.ศิริชัย นามบุรี ซึ่งรับผิดชอบโครงการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ตามนโยบายเพิ่มศักยภาพขององค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้เป็นมหาวิทยาลัย "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้"  ของ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
    การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษาครั้งแรก โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สุกินา อาแล และ ผศ.นิชาภัทชรย์ รวิชาติ และคณาจารย์หลักสูตรสาขาทางภาษาศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าร่วมประชุม โดยมีคณะผู้บริหารสำนักวิทยบริการฯ นำโดย ผอ. ปรีชา พังสุบรรณ รองผู้อำนวยการฯ และบุคลากร เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก และเป็นหน่วยงานที่กำกับการจัดตั้งในระยะแรก

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เยี่ยมสำนักวิทยบริการฯ กิจกรรมทบทวนแผนกลยุทธ์และติดตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT และระบบ MIS

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556  เวลา 10.00 น. ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ  เข้าร่วมกิจกรรมการทบทวนและพัฒนาแผนกลยุทธ์ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการอบรมปฏิบัติการจัดทำแผนกลยุทธ์แบบครบวงจรของสำนักวิทยบริการฯ เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุมสำนักวิทยฯมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่ผ่านมา  ผลการจัดทำแผนกลยุทธ์จะได้นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางหรือเป็นต้นแบบหน่วยงานอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป  ขอให้กำลังใจทีมงาน ผอ.ปรีชา พังสุบรรณ และทีมงานสำนักวิทยบริการฯ ทุกๆ ท่าน

   นอกจากนั้น ยังได้ประชุมร่วมกันกับบุคลากรสำนักวิทยบริการฯ ศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามการดำเนินงาน "โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้" ประจำปีงบประมาณ 2557 เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาด้าน ICT ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  โดยเฉพาะกิจกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) ผลการดำเนินงานจะรายงานตามโครงการจะได้รายงานให้ทราบเป็นระยะต่อไป

คณะกรรมการ กอข. ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจการสั่งการและปรับเส้นทางเดินเอกสาร

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556  เวลา 13.30 น. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (กขอ.) ประกอบด้วยรักษาราชการแทนอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ เป็นประธาน รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการกระจายอำนาจการบริการงาน และการบริหารงานสารบรรณในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร โดยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน ผู้อำนวยการกองกลาง หัวหน้างานการเงิน หัวหน้างานพัสดุ ร่วมให้ข้อมูลประกอบ จากผลการประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประกาศใช้ในการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยต่อไป