วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ดร.ศิริชัย นามบุรี กับการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรอบสามเดือน (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖)

    ผลการกำกับดำเนินงานในรอบ  ๓ เดือนที่ผ่านมา คือ ระหว่าง เดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖ โดยความรับผิดชอบหน้าที่ที่อธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ ได้มอบหมายให้กำกับการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการประกันคุณภาพ  ด้านการสื่อสารองค์กรและสื่อสารการศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการตามวิสัยทัศน์ของอธิการบดี ๕๙ โครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ  ทั้งนี้ หน่วยงานที่กำกับ ได้แก่ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (http://aritc.yru.ac.th)  สำนักประกันคุณภาพ (http://web.yru.ac.th/qa)  สถานีวิทยุ (http://radio.yru.ac.th) รวมทั้งเป็นประธานกรรมการกำกับการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (http://science.yru.ac.th)
     สามารถสรุปผลการดำเนินงานและการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ดังนี้

๑. โครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก : จัดหาจอ LED 
         ติดตั้งจอ LED ขนาดประมาณ 2.00x4.00 ม. ติดตั้งบริเวณหน้าประตู ๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จและทดสอบระบบได้ใน วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๖  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยของมหาวิทยาลัยและของหน่วยงานภายใน และลดงบประมาณการใช้ป้ายไวนิลของหน่วยงาน รวมทั้งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่งานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
     การดำเนินการในขั้นต่อไป จะมีการขยายจุดเพื่อติดตั้งป้ายตัวอักษรวิ่งอิเล็กทรอนิกส์ และจอ LED Digital Signage ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร (เหมือนบริเวณ Lobby ของโรงแรม) บริเวณหน้าห้องประชาสัมพันธ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติวชิราลงกรณ (อาคาร ๒๐) รวมทั้ง การจัดระบบการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยใหม่ทั้งระบบผ่านนโยบายคณะกรรมการสื่อสารองค์กรและสื่อสารการศึกษา ซึ่งจะเริ่มนัดประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการสื่อสารองค์กรและการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

๒. ลาน ICT เพื่อการเรียนรู้ 
     เป็นการขยายบริการสัญญาณเครือข่ายไร้สาย (Wireless, Wifi) สนับสนุนการเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมง ณ บริเวณชั้นล่างของหอประชุมหลังใหญ่ โดยมีบริการแสงสว่าง การดูแลรักษาความปลอดภัย บริการห้องสุขา และอาจจัดให้มีจุดบริการซุ้มอาหารจานด่วนและเครื่องดื่ม ซึงจะเริ่มให้บริการในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป บุคลากรและนักศึกษาที่ต้องการใช้บริการ ให้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook หรือ Smart Phone/Tablet ไปลงทะเบียนใช้บริการได้ที่ อาคารสำนักวิทยบริการฯ ชั้น ๓
     การดำเนินการขั้นต่อไป จะเพิ่มจุดให้บริการครบวงจร ณ บริเวณชั้นล่างตึก IT เมื่อตึกแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ซึ่ขณะนี้กำลังก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย


๓. โครงการจัดซื้อและผ่อนคอมพิวเตอร์ (เท่าทัน IT) 
         การดำเนินงานขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อเสนอเป็น โครงการจัดหาคอมพิวเตอร์ Notebook สนับสนุนการเรียนรู้แก่นักศึกษาและบุคลากร เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๒-๓ มีคอมพิวเตอร์ Notebook สำหรับเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ในเบื้องต้นมีบริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์เสนอรายละเอียดเป็นคอมพิวเตอร์ Notebook ยี่ห้อ Acer  ประสิทธิภาพสูง (Intel® Core i5-3230M processor 2.6 GHz upto 3.1 GHz, 3 MB L3 cache) ด้วยเงื่อนไข เงินดาวน์เริ่มต้น ๓,๐๐๐ บาท ชำระผ่อนเป็นรายเดือนอีก 18 งวด งวดละ ๑,๒๗๐ บาท รับประกัน ๑ ปี โดยต้องมียอดผู้สั่งจองประมาณ ๓๐๐ คน และมีศูนย์บริการหลังการขายให้ ณ บริเวณตึก IT
     การดำเนินงานขั้นต่อไป ศูนย์คอมพิวเตอร์จะเริ่มสำรวจความต้องการของนักศึกษาภายใน เดือนมกราคม ๒๕๕๗  และ เริ่มโครงการและทำสัญญาซื้อโดยมีผู้ปกครองนักศึกษาเป็นผู้ค้ำประกันภายในเดือน มีนาคม ๒๕๕๗ คาดว่าน่าจะได้คอมพิวเตอร์ประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อรองรับการใช้ในการเรียนรู้ของนักศึกษาในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗

๔. จัดห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐาน ICT

        โดยศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการ ได้รับงบประมาณพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อและกระจายสัญญาณการสื่อสาร สำหรับติดตั้งในอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ (ตึก IT ใหม่) ประกอบด้วย ห้อง Data Center, การปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การพัฒนาห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนการสอน (คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 212 เครื่อง Notebook 62 เครื่อง) ติดตั้งเครื่อง Projector ติดตั้งระบบเสียงประจำห้อง ระบบไฟฟ้าสำรองประจำอาคาร โดยขณะนี้กำลังพัฒนา TOR สำหรับประกาศรายละเอียดครุภัณฑ์ประเภทต่่างๆ โดยเร่งด่วน
    การดำเนินงานในขั้นต่อไป  จัดหาผู้รับจ้าง/จัดซื้อจ้างภายในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนและบริการวิชาการในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗










๕. การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS: Management Information System)

        โดยศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการ ได้รับงบประมาณพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ สำหรับจัดซื้อระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารด้าน งบประมาณ การเงินและบัญชี ระบบจัดซื้อจ้าง ระบบพัสดุ พร้อมฮาร์ดแวร์ประกอบจำนวน ๑ ระบบ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา TOR สำหรับประกาศเพื่อจัดหาผู้รับจ้าง ขณะนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการและติดตามงานเป็นระยะๆ ให้สามารถดำเนินการทันตามระยะเวลาที่กรอบงบประมาณกำหนด
     การดำเนินงานในขั้นต่อไป จัดหาผู้รับจ้าง/จัดซื้อจ้างภายใน วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนและบริการวิชาการในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗

๖. ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย ICT 
           เป็นโครงการตั้งศูนย์ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการใช้ ICT ของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่งของคณาจารย์ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารสำนักวิทยบริการฯ ชั้น ๖ (http://aritc.yru.ac.th/elearning) จัดให้มีบุคลากรให้การสนับสนุน ๒ คน คือ คุณรัตนาภรณ์ ศรีหาพล และคุณธนภัทร นาคิน ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้สามารถดำเนินการ บรรลุตัวชี้วัดของเป้าประสงค์ ข้อ ๒ นักศึกษาและบุคคลทั่วไปได้รับการจัดการเรียนการสอนและบริการที่มีคุณภาพ กลยุทธ์ปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการจัดการเรียนการสอน (เอกสารหน้า ๑๓ ในแผนปฏิบัติราชการ มรย. ปี ๒๕๕๗) ทีกำหนดค่าเป้าหมายประจำปี ๒๕๕๗ คือ ร้อยละของอาจารย์ที่สอนด้วยระบบ e-Learning อย่างน้อย ๑ รายวิชาต่ออาจารย์ ๑ คน โดยกำหนดไว้ร้อยละ ๕๐  (จากจำนวนอาจารย์ทั้งหมด ๒๕๒ คน)  ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการดำเนินงาน มีการจัดประชุมเตรียมดำเนินงานขับเคลื่อนไปแล้ว ๓ ครั้ง เพื่อดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้
     การดำเนินงานในขั้นต่อไป ศูนย์อีเลิร์นนิ่งฯ จะดำเนินการสำรวจรายชื่อคณาจารย์อาจารย์บรรจุใหม่และอาจารย์ที่ยังไม่เคยเข้ารับการอบรม โดยเริ่มอบรมปฏิบัติการในช่วงปลาย เดือนมกราคม ๒๕๕๗ โดยเน้นให้ทุกหลักสูตรมีส่วนร่วม และนำผลการสอนของอาจารย์ไปใช้เป็น KPI ระดับบุคคล ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้ง เป็นระบบสนับสนุนการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพระดับคณะและมหาวิทยาลัยในประเด็น "การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ" และเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์นักศึกษาในประเด็น "เก่งไอที" อีกด้วย

๗. โครงการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา 

        การดำเนินงานในโครงการนี้ เป็นโครงการจัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยมีสำนักวิทยบริการฯ เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งเป้าหมายของศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา คือเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการด้านภาษา การส่งเสริมอัตลักษณ์นักศึกษาในด้าน "สื่อสารภาษามลายูกลาง" รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และการวิจัยด้านอาเซียนศึกษา การเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรและนักศึกษาเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งมีการจัดประชุมคณะกรรมการไปแล้ว ๒ ครั้ง สำนักงานชั่วคราวจะตั้งอยู่สำนักวิทยบริการฯ ชั้น ๓  ขณะนี้ได้เสนอโครงการศึกษาดูงานศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ณ กรุงเทพมหานคร เช่น ศูนย์ภาษา ศูนย์อาเซียนศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีกำหนดจะไปศึกษาดูงานในช่วงปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๗ นี้
     การดำเนินงานในขั้นต่อไป  เสนอโครงการจัดตั้งจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาองค์การ เพื่ออนุมัติเป็นโครงการจัดตั้งส่วนราชการใหม่ ดำเนินกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธ์ ได้แก่ การส่งเสริมนักศึกษาตามอัตลักษณ์ด้านภาษามลายูกลง  การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน รวมทั้ง จัดกิจกรรมสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียนให้แก่คณะและหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานหรือบุคลากรภายนอก โดยเน้นการจัดหารายได้


๘. การส่งเสริมสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศสู่องค์กรคุณภาพ
      ได้ดำเนินการมอบนโยบายให้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศส่งเสริมให้เป็นองค์กรต้นแบบในด้านการบริหารจัดการ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่บุคลากรทุกท่านมีส่วนร่วมในการกำหนดคือ "แหล่งเรียนรู้ทันสมัย บริการเป็นเลิศ สู่องค์กรคุณภาพ" โดยผ่านกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาองค์กรแบบครบวงจร (จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการ เมื่อ ๗-๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมสำนักวิทยฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา) และการพัฒนาร่างสมรรถนะของบุคลากรและของงานแต่ละด้าน การพัฒนาตัวชี้วัดรายบุคคล (KPI: Key Performance Indicator) การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP)  ซึ่งได้จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๗-๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ฯ  ผลการขับเคลื่อน ทำให้สำนักวิทยบริการฯ กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ที่เป็นเป้าหมายปลายทางร่วมกันขององค์กรอย่างชัดเจน เป็นองค์กรนำร่องที่มีแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๑ มีแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีร่างสมรรถนะรายบุคคลและหน่วยงานภายใน มีตัวชี้วัดรายบุคคล และมีแผนพัฒนาบุคลากรประจำปี ๒๕๕๗ และขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือแผน ICT ๕ ปี เพื่อเสนอกระทรวงไอซีทีอนุมัติ สำหรับใช้เป็นกรอบในการพัฒนาและเสนอของบประมาณด้าน ICT ต่อไป
     การดำเนินงานในขั้นต่อไป  การขับเคลื่อนสำนักวิทยบริการฯ  ใช้แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงานประจำปี เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายตามที่ได้กำหดนวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ "แหล่งเรียนรู้ทันสมัย บริการเป็นเลิศ สู่องค์กรคุณภาพ" และสร้างภาพลักษณ์องค์กรในอนาคตคือ "องค์กรต้นแบบ" ในการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก และตั้งเป้า เป็นผู้นำ ICT ในสามจังหวัดชายแดนใต้





๙. การกำกับดำเนินงานสำนักงานประกันคุณภาพ  
         ตามนโยบายอธิการบดี กำหนดให้สำนักประกันคุณภาพรับผิดชอบในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพขององค์กรทุกๆ ด้าน เช่น การประกันคุณภาพภายใน (Self Assessment Report: SAR)  สกอ. การประเมินภายนอก สมศ.   การรายงานการประกันคุณภาพตามตัวชี้วัดของ กพร. การรายงานผลการดำเนินงานตามคำรับรองระดับจังหวัด  รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินงานของผู้บริหารและมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการบริหารงานประกันคุณภาพ ได้มีมติมีการประเมินคุณภาพภายในถึงในระดับหลักสูตร โดยเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๕๖ นี้  โดยได้ดำเนินการประชุมชี้แจงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับองค์ประกอบ ตัวบ่งชี้และเกณฑ์สำหรับการประเมินประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตร เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ไปแล้ว นอกจากนั้น จะทำการขับเคลื่อนให้สำนักงานประกันคุณภาพดำเนินงานในเชิงรุก เน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกคนภายในองค์กร และเตรียมการที่จะให้หน่วยงานระดับคณะและมหาวิทยาลัยพร้อมรับการประเมินจาก สมศ. รอบ ๔ ที่จะเริ่มประเมินในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ นี้
    การดำเนินงานขั้นต่อไป  ในอีก ๓ เดือนข้างหน้า จะต้องขับเคลื่อนกิจกรรมการประเมินผู้บริหารและมหาวิทยาลัยให้เสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้สภามหาวิทยาลัยฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินเรียบร้อยแล้ว (ตามมติสภามหาวิทยาลัยฯ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖)  รวมทั้งเตรียมการประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร





๑๐. การขับเคลื่อนระบบบุคลากรพนักงานมหาวิทยาลัย
   โดยอธิการมอบหมายให้ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ผศ.ดร.นัทที ขจรกิตติยา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเลขานุการ ร่วมกันศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย และเร่งรัดการออกข้อบังคับ/ระเบียบเครื่องแต่งกายและเครื่องหมายสำหรับเครื่องแต่งกายในงานพระราชพิธีของพนักงานมหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ดำเนินงานแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลและแนวทางการบริหารจัดการกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการประชุมในเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ส่วนการออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องหมาย ขณะนี้ คณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย อ.ศฤงคาร กิติวินิต อ.สวพร จันทร์สกุล อ.รุซณี ซูสารอ  อ.พอหทัย ซุ่นสั้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการออกแบบเครื่องหมายประดับและเครื่องแต่งกายเพื่อเป็นต้นแบบให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการลงมติเพื่อเลือกเครื่องหมายและเครื่องประดับ เพื่อเสนอประกอบรายละเอียดการยกร่างข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัยต่อไป และคาดว่าจะเสร็จทันใช้ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งต่อไป

    การดำเนินงานในขั้นต่อไป   คณะกรรมการที่ตั้งขึ้น จะร่วมกันศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอมหาวิทยาลัยฯ จัดประชุมแจงข้อกฎหมายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้พนักงานมหาวิทยาลัยรรับทราบ และร่วมตัดสินใจในการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนมหาวิทยาลัยต่อไป รวมทั้งการขับเคลื่อนให้มีการออก ประกาศ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยให้สามารถปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยได้อย่างมั่นคงและเห็นเส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ โดยรวบรวมพัฒนาเป็น "คู่มือพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" ต่อไป

      












สำหรับการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ที่กำลังจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการ YRU Cable TV  ห้องสมุดปัญญาภิรมย์  ศูนย์หนังสือ  การขับเคลื่อนสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  การขับเคลื่อนการสื่อสารองค์การและสื่อสารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นด้าน ICT  การพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพ  ซึ่งจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: