วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุน มรย.ให้เป็น e-WISDOM

     ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีมโปรแกรมเมอร์ ประกอบด้วย คุณรอปิมิง แมะเราะ คุณไกรทพนธ์ เติมวิทย์ขจร คุณอามิร หะรง และคุณซุลกิฟลี  ร่วมประชุมติดตามและกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 เวลา 13.00 น. เพื่อสนับสนุนให้มีสารสนเทศสำหรับการบริหารและการบริการ สนับสนุนให้เกิด e-WISDOM คลังปัญญาของมหาวิทยาลัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักศึกษา บุคลากร และชุมชนในพื้นที่ โดยมีมติให้ร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบของทีมโปรแกรมเมอร์ การกำหนดฐานข้อมูล (คลังข้อมูล) การกำหนดเทคโนโลยีที่ใช้เป็นเครื่องมือ
   ซึ่งมีระบบสารสนเทศที่ต้องเร่งพัฒนาตรงตามความต้องการ ได้แก่ ระบบสารสนเทศงานประกัน ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ระบบบุคลากร (e-Personnel) ระบบประวัติผลงาน (e-Profile) ระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (e-Performance) ระบบบริหารหลักสูตร (e-Curruculum) โดยมอบหมายหน้าที่ในการพัฒนาและตัวชี้วัดรายบุคคล โดยเป้าหมายใน 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ระบบการจัดเก็บ มคอ.3 และ มคอ.5 สนับสนุนการประเมินระดับหลักสูตร (ส่วนหนึ่งของระบบ e-Curriculum) ระบบเก็บประวัติบุคคลและแผนการพัฒนาตนเอง (ส่วนหนึ่งของระบบ e-Profile) และระบบสารสนเทศงานประกัน (e-QA: Quality and Assurance)

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฐานข้อมูลท้องถิ่นและยะลาโพล: ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากับ ศอ.บต.

จากวิสัยทัศน์อธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยฯ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ (World Wide) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะความร่วมมือกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของชุมชน เป็นการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน
         โดยเมื่อ วันที่ 5 มีนาคม 2557 เวลา 14.30 น. ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมประชุมปรึกษาหารือ ระหว่าง ศอ.บต. นำทีมโดย คุณสำอางค์ สิริรัตน์ นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วน สำนักนโยบายและแผน ศอ.บต. พร้อมด้วยทีมบุคลากรด้านไอที และทีมงานบัณฑิตอาสาในพื้นที่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมปรึกษาหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งนำทีมโดย ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมกับทีมไอทีของมหาวิทยาลัยฯ โดยหารือร่วมกันในความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลท้องถิ่น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนในการพัฒนาพื้นที่ นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือในการจัดทำยะลาโพล (ซึ่งขณะนี้ยังได้ได้กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการ) เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เชิงบวกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้โดยตรง โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ จะใช้เครือข่ายบัณฑิตอาสาที่ประจำในพื้นที่กว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นเครือข่ายของ ศอ.บต.และเป็นเครือข่ายศิษย์เก่าของ มรย. คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยสารสนเทศและความคิดเห็นที่ได้จะเป็นฐานข้อมูลท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ท้องถิ่นโดยตรง รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการให้แก่ประเทศได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและ ศอ.บต. จะได้หารือเพื่อทำบันทึกข้อตกลง (TOR) ร่วมกันสำหรับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยางเป็นทางการต่อไป

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ห้องสมุดปัญญาภิรมย์ (Edutainment Library): แนวทางการปรับปรุงห้องสมุดให้เป็น "ลานปัญญาภิรมย์ (Edu Plaza)"

คณะกรรมการบริหารสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวท.) โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อม อาจารย์ปรีชา พังสุบรรณ ผู้อำนวยการ อาจารย์นูรีดา จะปะกียา รองผู้อำนวยการ พร้อมด้วย คุณบุญชนันทร์ จันทร์สุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ ร่วมประชุม (4 มีนาคม 2557 เวลา 13.30-15.00 ณ ห้องประชุมสำนักวิทยบริการฯ ชั้น 6) เพื่อนำผลจากการศึกษาดูงานสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมประชุมเพื่อพัฒนาโครงการและกำหนดความต้องการ รวมแนวทางการในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสำนักวิทยบริการฯ (หอสมุดชั้น 1) ให้เป็น ลานปัญญาภิรมย์ (Edutainment Plaza หรือ Edu Plaza) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ที่ต้องการพัฒนารูปแบบของห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดทันสมัย มีชีวิต ดึงดูดความสนใจ สนองความต้องการผู้ใช้บริการยุคใหม่  ซึ่งได้แก่ คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า นักเรียน และประชาชนในพื้นที่บริการ ที่เน้นความต้องการใช้บริการห้องสมุดในรูปแบบใหม่ ทันสมัย เป็นห้องสมุดมีชีวิต 
     ห้องสมุดมีชีวิตรูปแบบใหม่ของ มรย. ที่จะพัฒนาขึ้น ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็น "ลานปัญญาภิรมย์" ณ บริเวณชั้น 1 เชื่อมต่อกับด้านหน้าของ "ลานไอซีที" ของตึกไอที ซึ่งอนาคตที่น่าจะเป็นแหล่งรวมบริการทุกๆ อย่างครบวงจร ทั้งความบันเทิงด้วยสื่อดิจิตอล แฝงด้วยแหล่งค้นหาความรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ พร้อมบริการอาหารจานด่วน เครื่องดื่ม ร้านกาแฟ  สามารถเข้าถึงได้สะดวก มีมุมสบายๆ สำหรับเป็นที่นัดพบ นัดทำกิจกรรมกลุ่มของนักศึกษา  เป็นพื้นที่พักผ่อนตามอัธยาศัย  มีมุมส่วนตัว เป็นต้น ส่วนชั้น 2-6 ก็จะปรับให้บริการที่ทันสมัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมท้ังรวมทั้งโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กบริการความจุ 50-80 คน โปรดติดตามการดำเนินงานโครงการนี้ต่อไป