วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

พัฒนายุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี : วิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

กิจกรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ สู่การยกระดับความเป็นเลิศของบัณฑิต ในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) นับเป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 โดยมีความมุ่งหวังในพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ให้เป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ 1) ยุทธศาสตร์การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ และ 2) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ที่ตรงตามความต้องการของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี
   ดังนั้น ในวันที่ 30 และ 31 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุมสภาฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงได้เชิญคณะกรรมการพัฒนาแผนฯ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ร่วมให้ข้อเสนอแนะและให้แนวคิดในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ เพื่อการมีงานทำ และในประเด็นของการผลิตและพัฒนาครูในพื้นที่ สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่  นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส และนายอับดุลเลาะห์ เจ๊ะอุบง ผู้ประกอบการเจ้าของกิจการอาหารฮาลาล "โรตีกรอบอับดุลเลาะห์"  โดยมีอธิกาารบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ และคณะกรรมการ YRU Core Team
    สำหรับประเด็นในการให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพบัณฑิต ได้แก่ การผลิตบัณฑิตควรเน้นการให้ทักษะให้มากที่สุดในขณะจัดการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา โดยใช้ศูนย์ฝึกประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน เช่น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ศูนย์เรียนรู้การปฏิบัติงาน ควรต้องมีสถานที่และเวทีทดลองความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน การปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ทุกหลักสูตร เพื่อรองรับบัณฑิตในยุคใหม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ (New Generation) ต้องให้ความสำคัญเรื่อง Soft Skill โดยเฉพาะทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการออม การจัดการการเงิน มุ่งไปสู่การกล้าเป็นผู้ประกอบการ
ควรมีการจัดการเรียนรู้แบบ Work-Integrated Learning: WIL โดยใช้ศูนย์บ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับสหกิจศึกษาเป็นเครื่องมือ และควรมองนโยบายการพัฒนาเมือง เช่น เทศบาลนครยะลา ที่ขณะนี้มุ่งเน้นในการสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา รวมทั้งควรมีการสร้าง Network และ Partner ระหว่างมหาวิทยาลัยฯ โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย การตลาดต้องทำคู่กับการพัฒนาวิชาการ (การพัฒนาบัณฑิต) โดยเลือกความเก่งเป็นบางเรื่องที่เราถนัด
    ประโยชน์ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการผลิตบัณฑิต การผลิตครูและพัฒนาครูจากเวทีประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้นำไปปรับยุทธวิธี (Tactics) เป้าหมาย (Goals) ตัวชี้วัด (KPIs) และโครงการ/กิจกรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดใน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ระยะ 10 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ต่อไป