วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมแสดงมุทิตาจิต ประจำปี 2557: นโยบายสร้างวัฒนธรรมองค์กรฉันท์ที่น้อง

วันที่ 26 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจัดกิจกรรมร่วมแสดง "มุทิตาจิต ประจำปี 2557" จากใจชาวราชภัฏยะลา 57 ให้แก่อาจารย์และบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ เกษียณอายุงาน และลาออกจากราชการ ประจำปี พ.ศ. 2557 โดยจัด ณ หอประชุมหลังเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
   สำหรับปี 2557 มีอาจารย์และบุคลากรเกษียณ จำนวน 8 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.สันติ บุญภิรมย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะครุศาสตร์
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชัญญา จันทร์ทักษิโณภาส อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จารุณี เซี่ยงเห็น อาจารย์ประจำสาขาคณิตศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร  
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นราพร มณีเชวง อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภา วัชรสุขุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  6. อาจารย์พงศา ศีลบุตร อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ
  7. นายอาเดร์ เจ๊ะมิง ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานขับรถ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
  8. นายนิทัศน์  พรหมสุข ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
  9. นายวรภัทร สุทธิศรี ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานห้องปฏิบัติการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ลาออก)
  10. นางสาวบุญชนันท์ จิตรสุวรรณ์  ข้าราชการ ตำแหน่งบรรณารักษ์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ลาออก)
    สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมสำคัญที่ร่วมกันจัดในภาคกลางวัน ได้แก่ กิจกรรมทำบุญถวายภัตราหารแก่ภิกษุสงฆ์ตามประเพณีทางศาสนาพุทธ และพิธีสวดดูอาร์ตามพิธีทางศาสนาอิสลาม จากนั้นคณาจารย์ บุคลากร ผู้เกษียณร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน สำหรับในภาคกลางคืน มีกิจกรรมการแสดงเพื่อส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การแสดงของคณาจารย์และบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมการกล่าวคำอำลาและความรู้สึกของคณาจารยและบุคลากรที่เกษียณ 
    การจัดงาและกิจกรรมแสดง "มุทิตาจิต ประจำปี 2557" นับเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กร "ฉันท์พี่น้อง" สร้างความรักความผูกพัน ความสามัคคีในองค์กร นับเป็นกิจกรรมที่สร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างรากฐานของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือ "พหุวัฒนธรรม" ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายจัดงานดีๆ อย่างนี้เป็นประจำทุกปี

  • ภาพประกอบเพิ่มเติม [1

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทส (สวท.) ขับเคลื่อนสู่องค์กรทันสมัยด้วย 5 ส.

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สวท. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://aritc.yru.ac.th) นำมาตรฐานการปฏิบัติงาน 5ส. (สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน, สร้างนิสัยและวินัย) มาใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง (Change Organization) มุ่งพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรต้นแบบคุณภาพ และให้เป็นองค์กรแห่ง WISDOM สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยฯ อย่างเป็นรูปธรรม คือ  University of WISDOM Bank (W: World Wide, I: Intellectual, D:Democracy, O: Organization และ M: Morality ) นับเป็นระบบงานและกิจกรรมคุณภาพเพิ่มเติมอีกกิจกรรมหนึ่ง หลังจากที่ สวท. ประสบความสำเร็จการบริหารงานองค์กรอย่างมีคุณภาพ โดยในรอบปีการศึกษา 2556 ที่ผ่านมา สวท. ได้รับการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานตัวชี้วัดและเกณฑ์ของ สกอ. อยู่ในระดับดีมาก (คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ  4.86 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน)
   
       สวท. ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้และทักษะการปฏิบัติงานตามแนวคิด "5ส." ขึ้นในวันที่ 16-17 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร สวท. ที่ผ่านมา มีคณะผู้บริหารและบุคลากรของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมการอบรมปฏิบัติการและลงมือปฏิบัติจริงโดยกำหนดกรอบกิจกรรมดำเนินงานของแต่ละบุคคลและแต่ละส่วนงานภายใน สวท. โดยใช้ 5ส. เพื่อนำกรอบ  โดยมีวัตถุประสงค์คือ ใช้  5 ส. เป็นเครื่องมือเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงาน สวท. เป็นหน่วยงานต้นแบบและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็น WISDOM Bank หรือคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่มุ่งหวังให้ สวท. เป็นหน่วยงานที่สามารถบริหารจัดการองค์กรได้โดยการใช้คุณภาพนำการบริหารและบริการ ที่สำคัญก็คือ เน้นการเปลี่ยนแปลงบุคลากรให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Person) บุคคลแห่งการนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Change) ในการที่จะส่งผลให้องค์การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: OL) และองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง (Organization Change) ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารจัดการให้เกิด O: Organization องค์กรแห่งการจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เป็นส่วนสำคัญในวิสัยทัศน์การบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัย คือ ต้องการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" หรือ University of WISDOM Bank ต่อไป

     อนึ่ง เพื่อให้การนำความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมครั้งนี้เป็นรูปธรรม สามารถติดตามและประเมินผลความสำเร็จได้ สวท. จะได้นำ 5ส. เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากร  สำหรับการประเมินผลปฏิบัติงานรายบุคคลประจำปี พ.ศ. 2558 ของ สวท. ต่อไป

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ระบบห้องสมุด Walai AutoLib: การพัฒนาระบบสารสนเทศทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อให้ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการฯ เป็นคลังปัญญา มรย.

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาขับเคลื่อนการนำไอซีทีมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์บรรณสารสนเทศ ดำเนินการติดตั้งและจัดอบรมบุคลากรในใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai AutoLib  ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายหน่วยงานมหาวิทยาลัยในภาคใต้  ดำเนินการจัดอบรมความรู้และทักษะการใช้ระบบให้แก่ผู้บริหารระบบและบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2557 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 6 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยพร้อมอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ครบครัน
     สำหรับระบบ Walai Autolib นับเป็นระบบสารสนเทศสำหรับจัดการทรัพยากรการเรียนรู้และคลังความรู้อัตโนมัติที่สำนักวิทยบริการฯ มีแผนจัดหาและดำเนินการจัดหามาติดตั้ง โดยดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 เพื่อทดแทนระบบเดิม (ML Web OPAC ) ซึ่งใช้งานมานานกว่า 10 ปี และไม่มีการพัฒนาความสามารถต่อให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและการบริหารได้ในปัจจุบัน
   สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการนำระบบ Walai Autolib มาติดตั้งใช้งานในครั้งนี้ นอกเหนือจากจัดระบบการจัดเก็บทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ หนังสือ วารสาร ฯลฯ แล้ว ก็เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการห้องสมุดอัตโนมัติให้เป็นคลังรวบรวมและเก็บความรู้ประเภทชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ของคณาจารย์และบุคลากรในองค์กร ให้อยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดเก็บให้เป็นระบบให้เป็น "คลังปัญญา" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่สามารถให้บริการสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรายงานงานวิจัย บทความวิจัย บทความวิชาการ คู่มืออบรม เอกสารวิชาการอื่นๆ รวมทั้ง วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ โครงงาน (Project) ของนักศึกษาอีกด้วย
    สำหรับการพัฒนาในระยะต่อไปของสำนักวิทยบริการฯ คือ การพัฒนาฐานข้อมูลรวบรวมงานวิจัย ฐานข้อมูลบทความวิชาการและบทความวิจัยของบุคลากร ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นฐานความรู้อ้างอิงบริการวิชาการ เป็นแหล่งพึ่งพิงทางวิชาการต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริการ ส่งเสริมให้องค์กรมีระบบบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป



วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

การขับเคลื่อนจัดตั้ง "ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" มุ่งสู่อาเซียน

วันที่ 4 กันยายน 2557 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสภา คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเชียนศึกษา ซึ่งนำโดย ผศ.ดร.สุกินา อาแล ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์อาเซียนศึกษา ซึ่งกำกับนโยบายด้านการจัดตั้งศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ร่วมกับสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ นำเสนอ (ร่าง) ระเบียบสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศูนย์ภาษาและอาเชียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ต่อคณะกรรมการบริหารบุคคลมหาวิทยาลัย (กบม.) ซึ่งมีอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีเป็นประธานในที่ประชุม การเสนอร่างระเบียบสภาฯ ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของอธิการบดี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในกำกับของอธิการบดี มีพันธกิจสำคัญโดยเฉพาะ คือการขับเคลื่อนคุณภาพบัณฑิต บุคลากรและประชาชนในพื้นที่ในด้านความรู้ความสามารถและทักษะด้านภาษา โดยในระยะแรกเน้น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายู ภาษาอาหรับ และภาษาไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน การวิจัยที่่เกียวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตของ มรย. เข้าสู่ตลาดแรงงานและสังคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ  นอกจากนั้น หน่วยงานนี้ยังรวมกิจการวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยฯ ไว้ในหน่วยงานนี้ เพื่อดำเนินภารกิจบูรณาการร่วมกันได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในที่ประชุม กบม. มีมติให้แก่ไขบางประเด็นในร่างระเบียนฯ และมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวได้ ขั้นตอนต่อไปคือนำร่างระเบียบฯ เสนอสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อให้ข้อเสนอแนะและมีมติต่อไป
   สำหรับสถานที่ดำเนินงานของ "ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา" จะเปิดให้บริการ ณ อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ชั้น 7-8) อย่างครบวงจรในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 นี้

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

การขับเคลื่่อนการพัฒนาระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปี 2558

    สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร ศูนย์คอมพิวเตอร์ ประชุมร่วมกับ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ปรีชา พังสุบรรณ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประชุมเตรียมจัดทำแผน โครงการ และกิจกรรมประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การบริหารของคณะผู้บริหารในด้าน "การพัฒนาระบบเทคโนสารสนเทศ" ที่มุ่งเน้นนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหาร สอดคล้องกับตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา

   นโยบายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จัดมีโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารที่สำคัญและตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย พัฒนาโดยทีมงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ของศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการฯ   โดยเน้นการพัฒนาเป็น 3 ระยะในแต่ละระบบ ระยะละ 1 ปี โดยระยะแรกในปี 2558 เน้นที่ตรงกับความต้องการเร่งด่วนของหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ได้แก่

1. ระบบสารสนเทศงานประกันคุณภาพ (e-QA: http://eservice.yru.ac.th/qa) เป็นการพัฒนาต่อยอดจากปี พ.ศ. 2557 ที่พัฒนารองรับการเก็บหลักฐานการประเมินในระดับหลักสูตร และเน้นการรวบรวมสารสนเทศจากทุกระบบในมหาวิทยาลัย นำเสนอเป็นภาพรวมสารสนเทศออนไลน์ของมหาวิทยาลัย

2. ระบบสารสนเทศบริหารทรัพยากรบุคคล (e-HR: http://account.yru.ac.th/hr )  พัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารบุคคลของมหาวิทยาลัย เน้นการพัฒนาระบบเพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ตรงตามความต้องการของผู้บริหารและผู้ใช้สารสนเทศทั่วไป และนำไปใช้กับงานประกันคุณภาพภายในได้ในอนาคต

3. ระบบสารสนเทศประเมินประสิทธิภาพรายบุคคล (e-Performance)  เป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบ e-Profile (http://eprofile.yru.ac.th)  เน้นการพัฒนาเพื่อเก็บรวบรวมผลงานและหลักฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนสำหรับรองรับการประเมินผลการปฏิบัติงานในรอบปี รวมทั้งการนำผลงานรายบุคคลไปใช้ในงานประกันคุณภาพ

4. ระบบบริหารจัดการหลักสูตร (e-Curriculum) เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศเพื่อรองรับการประเมินระดับหลักสูตรของ สกอ.ในปี 2558 ได้แก่ การจัดเก็บข้อมูลกรรมการบริหารหลักสูตร การจัดเก็บและจัดการ มคอ.ต่างๆ  การจัดประชุมกรรมการบริหารหลักสูตร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. ระบบประเมินผลการดำเนินงานตามแผน (e-Planning) เป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบสารสนเทศบริหารทรัพยากรองค์กร (ERP: Enterprise Resources Planning) ที่มหาวิทยาลัยฯ จะนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2558 นี้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามประเมินแผนของมหาวิทยาลัย

6. ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หน่วยงานระดับคณะ/สำนัก ระดับกอง/หลักสูตร เน้นการส่งเสริมการพัฒนาเว็บไซต์ให้ครบทุกหลักสูตร มีสารสนเทศทีตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และมุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานมีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

7. ระบบทดสอบอิเล็กทรอนิกส์ด้านมาตรฐานด้านไอซีที (e-Testing) เป็นระบบสารสนเทศทดสอบมาตรฐานไอซีทีสำหรับนักศึกษา พร้อมรายวิชาอีเลิร์นนิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อประเมินอัตลักษณ์ "ด้านเก่งไอที" ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำหรับโครงการนี้ดำเนินการโดยงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ขับเคลื่อนโดยศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ไอซีที (http://elearning.yru.ac.th)

8. ระบบสารสนเทศบริหารทรัพยากรองค์กร (ERP: Enterprise Resources Planning)  เป็นการขับเคลื่อนการนำระบบ ERP มาใช้ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดซื้อและจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมการขับเคลื่อนมาใช้ในการร ะบบจัดสรรและติดตามงบประมาณ  ระบบพัสดุ ระบบการเงินและบัญชี


วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

พิธีเปิดศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 1 กันยายน 2557 เวลา 13.00 น. ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีเปิดศูนย์หนังสืออย่างเป็นทางการ ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะผู้บริหารส่วนราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ให้เกียรติร่วมในพิธีเปิดจำนวนมาก ได้แก่ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดร.ปรีชา เวชศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา แขกผู้เกียรติ และสื่อมวลชน
   การดำเนินการจัดตั้งศูนย์หนังสือครั้งนี้เป็นวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ มอบหมายให้ผู้บริหารและบุคลากรสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานและดำเนินงานจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย          
      สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ เพื่อให้ศูนย์หนังสือแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ผลงานวิชาการ เอกสาร ตำรา หนังสือของคณาจารย์ บุคลากร นักวิชาการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งของคณาจารย์ บุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางให้บริการจัดหาหนังสือตำรา เอกสารวิชาการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก จากทุกสำนักพิมพ์ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์หนังสือดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างบรรยากาศวิชาการให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและในท้องถิ่น เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้
      ขอขอบคุณสื่อสารมวลชนทุกสื่อทุกช่องทาง ที่กรุณาให้เกียรตินำเสนอข่าวและสนับสนุนกิจกรรมการเปิดศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยความร่วมมือกับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้