วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาระบบบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย: การบริหารกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย


ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มี คำสั่งที่ ๔๗๑๖/๒๕๕๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี  เป็นประธานกรรมการ ผศ.ดร.นัทที ขจรกิตติยา เป็นรองประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากกองนโยบายและแผน นางสาวทวีวรรณ ทองนวล  นางสุธิดา คงถาวร  ตัวแทนจากงานคลัง  นางสาวประภาพรรณ โชติสูงเนิน นางทวีพร  ยอดทอง ผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการจากทุกคณะ อ.ปนัดดา เรืองสงค์ (คณะครุศาสตร์) อ.สุพัตรา รุ่งรัตน์ (คณะมนุษยศาสตร์ฯ) อ.ภูตรา อาแล (คณะวิทยาการจัดการ) อ.วารินทร์ ศรีพงษ์พันธ์กุล (คณะวิทยาศาสตร์ฯ) พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน ประกอบด้วย นายแวยูฮัน หะยีแวนาแว (กองพัฒนานักศึกษาฯ สำนักงานอธิการบดี) นายมูฮัมหมัดตายุดิน บาฮะคีรี (สถาบันวิจัยและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้) คุณมูฮามะ มะสง (สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ) และผู้แทนจากงานการเจ้าหน้าที่ นางสอฝีน๊ะ นวนดำ เป็นกรรมการและเลขานุการ และนางสาวอานี สาแลแม  เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

    มหาวิทยาลัยฯ ได้มอบหมายหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ให้มีหน้าที่ในการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มติคณะรัฐมนตรี  ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ แนวปฏิบัติของ สกอ. และของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ข้อมูลการดำเนินงานในสภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ การกำหนดและขอกรอบอัตรากำลังในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย การจัดทำคำของบประมาณและการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้อง  และการนำเสนอข้อมูลหรือแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยประเภท "พนักงานมหาวิทยาลัย (พนม.)" ทั้งสายวิชาการหรืออาจารย์ และสายสนับสนุนการสอน
    สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือครั้งแรกใน วันที่ 17 มกราคม 2557 เวลา 10.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม 2  โดยให้ผู้แทนของหน่วยงานแต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ได้แก่ ผู้แทนจากกองนโยบายและแผนงาน งานคลัง และงานการเจ้าหน้าที่ ได้นำเสนอข้อมูลสภาพปัจจุบันให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งนำเสนอข้อมูลและสาระสำคัญ ดังนี้

1) ผู้แทนจากงานการเจ้าหน้าที่ เสนอรายละเอียดมติของคณะรัฐมนตรีในกรณีกำหนดกรอบอัตราเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ 1.7 เท่า และสายสนับสนุน 1.5 เท่า ของเงินเดือนราชการ ซึ่งยังขาดความชัดเจนในแนวปฏิบัติ  ที่ประชุมจึงมีมติให้งานการเจ้าหน้าที่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อความชัดเจนในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารกรอบอัตราเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย โดยศึกษาแนวปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกัน เนื่องจากมีบริบทใกล้เคียงกัน
       อย่างไรก็ตามขณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีข้อบังคับและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย อยู่อย่างน้อย 3 ฉบับที่นำเสนอในที่ประชุม  ซึ่งสาระสำคัญคือ ขณะนี้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย เรียกว่า กบม. และมีประกาศของ กบม. เกี่ยวกับการบริหารกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยคณะกรรมการ ก.พ.พ.ม.  นอกจากนั้นข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากำหนดให้จ้างพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการไม่เกินร้อยละ 70 และสายสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินเดือนข้าราชการ แต่สามารถจ้างสูงกว่าอัตราที่กำหนดได้หากมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ตามที่ กบม. เห็นสมควร  สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ศึกษาจากข้อบังคับและประกาศ ดังนี้
      (1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 เรื่อง ผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เกี่ยวกับอัตราที่ยุบเลิกจากผลการเกษียณอายุปีงบประมาณ พ.ศ. 2541
      (2) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 การจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัย/สถาบันในกำกับรัฐบาล
      (3) ข้อบังคับ ว่าด้วย คณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ศ.2550
      (4) ข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2550
      (5) ประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (กบม.) ฉบับที่ 1/2551 เรื่องกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

            (สำหรับแหล่งเรียนรู้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาดูเพิ่มเติมได้ที่ระบบ  e-Services  ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในกำกับที่เกี่ยวข้องดูเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้)
         
          สำหรับสาระสำคัญของ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 คือ  หลักการในการจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัย/สถาบันของรัฐ ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย/สถาบันในกำกับรัฐบาลตามกฎหมายแล้ว โดยให้จัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่มหาวิทยาลัย/สถาบันใน 2 ลักษณะ คือ (1) การจัดตั้งกองทุนคงยอดเงินต้น ให้มหาวิทยาลัย/สถาบัน แต่ละแห่งจัดตั้งกองทุนคงยอดเงินต้น โดยมหาวิทยาลัย/สถาบัน เป็นผู้จัดหาเงินกองทุนสมทบเป็นปีๆ ไป และรัฐอาจให้การสนับสนุนสมทบตามกำลังงบประมาณแผ่นดินเป็นปี ๆ ไป (2) การสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบันนั้น ให้จำแนกงบประมาณออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 2.1) ค่าใช้จ่ายประจำ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับภารกิจด้านการจัดการศึกษาที่รัฐอุดหนุนให้ในลักษณะค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษา และ 2.2) ค่าใช้จ่ายลงทุน ให้รัฐจัดสรรให้ตามโครงการและความจำเป็นตามสภาพของมหาวิทยาลัย/สถาบัน และกำลังงบประมาณของประเทศ
         ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ตั้งกองทุน "พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" รองรับตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตาม (5) ประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (กบม.) ฉบับที่ 1/2551 เรื่องกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

           สำหรับประเด็นสำคัญในประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (กบม.) ฉบับที่ 1/2551 เรื่อง กองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คือให้ กบม. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัย (ก.ก.พ.ม.) ซึ่งที่ผ่านมา กบม. ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงทำให้การบริหารกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากการเบิกจ่ายเป็นเงินเดือนและเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยจากกองทุนนี้ รวมทั้งยังขาดกฎหมายรองรับเพื่อจัดสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง จะต้องพิจารณาเงื่อนไขสัญญาจ้างครั้งแรกประกอบในการปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยด้วย

2) ผู้แทนจากกองนโยบายและแผน นำเสนอขั้นตอนการได้มาซึ่งงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนสำหรับเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสุน โดยได้รับจัดสรรเงินมาทั้งหมดตามกรอบอัตรากำลังที่ได้รับการอนุมัติจำนวนตำแหน่งไว้ หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้เงินอุดหนุนมาตามจำนวนกรอบอัตรากำลัง จะทำการงบประมาณทั้งก้อนเข้ากองทุน "พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา"  และเบิกจ่ายตามกรอบอัตราตำแหน่งที่สรรหาและบรรจุได้ในแต่ละปีจากกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะต้องบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบบริหารบุคลากรพนักงานมหาวิทยาลัยได้ (ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือบุคลากรประเภทอื่นๆ)

3) ผู้แทนจากงานคลัง นำเสนอรายละเอียดและยอดเงินคงเหลือปัจจุบันของ "กองทุนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" ซึ่งยังคงมียอดคงเหลือตามบัญชีที่เป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

    สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ ในที่ประชุม โดยผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานสนับสนุนและคณะ มีข้อถามเกี่ยวกับ การบริหารจัดการกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาดำเนินการอย่างไรบ้าง ข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเท็จจริง ได้แก่ จำนวนกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุมัติ จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมดในปัจจุบันและที่ผ่านมา รายละเอียดของรายได้ รายจ่ายของกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน  ดังนั้น มติที่ประชุมจึงขอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมโดยรายละเอียด และนำเสนอเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรในที่ประชุมครั้งต่อไป เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนออธิการบดีพิจารณา และจะได้เสนอมหาวิทยาลัยฯ จัดเวทีนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและ หาแนวทางบริหารจัดการกองทุนฯ ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการกองทุน และเพื่อผลประโยชน์ต่อพนักงานมหาวิทยาลัยโดยภาพรวมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: