วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงการความร่วมมือระหว่าง มรย.และ มทส. กับ Halal Food Valley: การพัฒนาศูนย์บริการอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร

บรรยากาศการประชุมปรึกษาหารือพัฒนาโครงการ
 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประสานความร่วมมือเสนอแนวคิดการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและการเกษตรฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  "โครงการบริการวิชาการและจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล" โดยมุ่งเป้าพัฒนาให้ มรย. เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการพัฒนาอุตสหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน  โดยมีมูลนิธิภูมิพลัง พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมเชิงพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเครือข่ายประชุมปรึกษาหารือด้วยในการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย 
   การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี และคณะผู้บริหาร พร้อมคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกับ คณะคณาจารย์ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา จากหน่วยงาน "เทคโนธานี" และ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มะรังศรี  พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.อุเทน ลีตน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล  และคุณปิยมาศ มหาบุญญานนท์ บุคลากรประจำเทคโนธานี

ซึ่งการประชุมปรึกษาหารือในที่นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการ กำหนดแผนดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน กรอบการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีต้นแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คือ เทคโนธานี ซึ่งมีส่วนของ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิด "ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" มุ่งไปสู่ Halal Food Valley อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้นี้


ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บรรยากาศร่มรื่นบนพื้นที่กว่า 200 ไร่
     สำหรับโครงการ"ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา"  มีเป้าหมายการใช้พื้นที่ดำเนินการที่ "ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน" อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทาง 4 ช่องจราจร (สาย 418)  ที่มีจุดแข็งคือ อยู่ศูนย์กลางระหว่าง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส การคมนาคมจากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 20 นาที และจากจังหวัดยะลา ประมาณ 15 นาที  จากจังหวัดนราธิวาส ประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น จุดแข็งของ มรย. ได้แก่ อยู่ในพื้นที่กลางใจเมือง ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม มีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมกับมีคณะที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมศาสตร์และการวิจัยแขนงต่างๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาตร์เทคโนโลยีและการเกษตร โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีสาขาวิชาด้านการออกแบบนวัตกรรมศิลป์ คณะวิทยาการจัดการที่มีสาขาวิชาด้านการตลาด บริหารธุรกิจ บัญชี การสื่อสารมวล เป็นต้น  รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาที่ผ่านกระบวนการวิจัยด้านอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่องของนักวิจัย มรย. เช่น ส้มแขก ขมิ้นชัน หมี่เบตง ข้าวยำ ข้าวเกรียบปลา ประเภทสัตว์ ได้แก่ แพะ โค และไก่เบตง เป็นต้น
     ในการพัฒนาศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวจะประกอบด้วยส่วนงานสำคัญๆ ในเบื้องต้น เช่น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม หน่วยประสานความร่วมมืออุตสาหกรรม หน่วยบริการทางเทคนิคและโรงงานต้นแบบ และหน่วยบริการทางธุรกิจ ซึ่งจะใช้ต้นแบบจาก "เทคโนธานี" ของมหาวิทยาลัยสุรนารี และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง ประโยชน์ที่จะเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในโครงการนี้ ได้แก่
     สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่เทคโนธานี พร้อมมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ร่วมกันทั้งสองมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นี้ และผลการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว จะได้นำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: