วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเร่งพัฒนาคุณภาพบัณฑิต: เสริมสร้างอัตลักษณ์บัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงและประชาคมอาเซียน

      ในปีการศึกษา 2557 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยท่านอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ พร้อมผู้บริหารและคณาจารย์ร่วมกันกำหนดให้เรื่อง "คุณภาพการศึกษา" เป็นวาระเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยฯ โดยกำหนดแผนงาน โครงการและตัวชี้วัด พร้อมค่าเป้าหมายมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาไว้ในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จัดให้มีโครงการและกิจกรรมที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความรู้และทักษะด้านวิชาชีพแก่บัณฑิต ก่อนจะสำเร็จการศึกษาออกไปแข่งขันในตลาดแรงงานทั้งในท้องถิ่น ในระดับประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดอัตลักษณ์บัณฑิต "เก่งไอที มีจิตอาสา สู้งาน สื่อสารภาษามลายูกลางได้" ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดอัตลักษณ์บัณฑิตไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ศ. 2555-2559  ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงปลายของการใช้แผนยุทธศาสตร์ จึงเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายก่อนเสร็จสิ้นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
     สำหรับโครงการและกิจกรรมสำคัญๆ ในปีงบประมาณ 2558 ที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอัตลักษณ์บัณฑิต และกำลังดำเนินการในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ปีศึกษา 2557 (15-25 ธันวาคม 2557) มีหลายโครงการดังนี้

1. การยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้กับนักศึกษา เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนา  ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาความรู้และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เสริมความแข็งแกร่งของบัณฑิตเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและนานาชาติในอนาคต สำหรับโครงการนี้รับผิดชอบโดยศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา (http://www.yru.ac.th/clas) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ Oxford Language Centre ดำเนินการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา 2,200 คน คนละ 30 ชั่วโมง


2. การพัฒนาทักษะการใช้ไอทีเพื่อการประกอบอาชีพส่งเสริมอัตลักษณ์ "เก่งไอที" จัดอบรมปฏิบัติการผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 2,000 กว่าคน ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานโดยใช้ไอซีที จำนวน 60 ชั่วโมง มีการวัดและประเมินผลผ่านกิจกรรมในระบบอีเลิร์นนิ่ง ผู้ผ่านการอบรม จะได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรระยะสั้นรายวิชา ประเมินผลเป็นระดับความสามารถ (ดีมาก ดี พอใช้ ผ่าน) รับผิดชอบโดย กองบริการการศึกษา และงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ไอซีที) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ






3. การพัฒนาทักษะการใช้ภาษามลายูเพื่อการสื่อสาร จัดอบรมปฏิบัติการให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ทุกคน เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และสื่อสารภาษามลายูกลางได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และมีโอกาสที่บัณฑิตจะเข้าไปทำงานได้ทั้งในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงบูรไนดาลุสซาลาม ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ภาษามลายูกลางและมีความสำคัญมากในการสื่อสารกับประชากรในประเทศดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงจัดอบรมให้ จำนวน 60 ชั่วโมง  ซึ่งในอนาคตนักศึกษาจะต้องระบบสอบวัดมาตรฐานก่อนสำเร็จการศึกษา (Exit-Exam) ด้านภาษามลายูกลาง  ซึ่งโครงการนี้รับผิดชอบโดยคณาจารย์ประจำหลักสูตรภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และกองบริการการศึกษา

   
      นอกจากนั้น ยังมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ เสริมความแกร่งของหลักสูตรที่เร่งดำเนินการในการพัฒนาภาพการเรียนการสอนของหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งในปีการศึกษา 2557 (สิงหาคม 2557-กรกฎาคม 2558) สกอ.จะใช้องค์ประกอบการประเมินและเกณฑ์ใหม่ปี 2557 ที่ประเมินหลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยฯ อย่างเข้มข้น
   ในการดำเนินการเหล่านี้ข้างต้นของมหาวิทยาลัยฯ จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกๆ ปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เข้มแข็ง เจริญเติบโตเป็นที่พึงของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตที่เกิดจาก "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: