วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเร่งปรับระบบการประเมินผลปฏิบัติราชการและตัวชี้วัด (KPIs)



      คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนโยบายเร่งพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resoures Management: HRM) ขององค์กรทั้งระบบ เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ศ. 2560-2569  โดยมีเป้าหมายพัฒนาองค์กรให้มีศักยาภาพในการแข่งขันและมีอัตลักษณ์เฉพาะองค์กร เป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ "มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" โดยจัดกิจกรรมประชุมปฏิบัติการพัฒนาและปรับปรุงระบบประเมินผลการปฏิบัติราชการและตัวชี้วัดการประเมินผลทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ HRM กิจกรรมครั้งนี้นำทีมดำเนินการโดย ผศ.ดร.วรพจน์ แซ่หลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินผล ตัวชี้วัด และเกณฑ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กบม.) ของมหาวิทยาลัย โดยมีอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กบม.) และได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมทั้งให้โอวาทและแนวนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทั้งนี้ กิจกรรมนี้เป็นการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ 59 โครงการ/กิจกรรมของท่านอธิการบดีในเรื่องสานศักยภาพ "การเร่งรัดปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อให้เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจ"
     การจัดกิจกรรมประชุมปฏิบัติการการพัฒนาและปรับปรุงระบบประเมินผลปฏิบัติราชการ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมเมอร์เมดสงขลา จังหวัดสงขลา มีการแบ่งกลุ่ม ระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย คณะ/สำนัก/ศูนย์ ทั้ง คณบดี ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หัวหน้างาน อาจารย์ และตัวแทนบุคลากร มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารระดับหัวหน้างาน ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนัก คณบดี และบุคลากรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกันพิจารณาและปรับปรุงระบบการประเมินผลปฏิบัติราชการ ตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินผลงานให้ชัดเจน มีหลักฐานประกอบการพิจารณาเป็นเชิงประจักษ์มากขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดของผู้บริหาร ที่จะต้องดำเนินการทำคำรับรองหรือข้อตกลงกับผู้บังคับบัญชาในการขับเคลื่อนตัวชี้วัดแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งได้ถูกถ่ายทอดตัวชี้วัดมาจากแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ อีกทั้ง มีตัวชี้วัดที่เป็นผลมาจากคะแนนผลการประเมินคุณภาพภายในของหน่วยงานที่ผู้บริหารกำกับอยู่
      สำหรับตัวชี้วัดและเกณฑ์ของสายวิชาชีพ มีการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมเพื่อให้เป็นแนวทางในการนำไปใช้ในตำแหน่งหลักๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป นักวิชาการศึกษา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ธุรการ นักวิชาการโสตทัศนูปกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของแต่ละตำแหน่งเป็นไปตามกรอบของมาตรฐานตำแหน่งและมีผลผลิตจากการปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการ มีประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น    
      สำหรับเป้าหมายในขั้นต่อไป คือการนำระบบประเมินผลปฏิบัติราชการฉบับนี้ไปใช้ อาจจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 หากได้เสนอผ่าน กบม. และพิจารณาอนุมัติ รวมถึงการเตรียมการใช้ระบบสารสนเทศ "ระบบประเมินผลสมรรถนะและผลการปฏิบัติราชการ (e-Competency and Performance)" เป็นเครื่องมือในการจัดทำคำรับรองปฏิบัติราชการ (ToR) บันทึกผลการดำเนินงานของแต่ละบุคคล พร้อมแนบหลักฐานออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวบรวมผลงานของบุคลากรในส่วนที่เป็นองค์ความรู้ ผลงาน แนวปฏิบัติที่ดี ให้เป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ต่อไป

.

ไม่มีความคิดเห็น: