วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

YRU Core Team: การสร้างทีม "ร่วมคิด รวมทำ นำพัฒนา" สร้างองค์กรอนาคต 15 ปี


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มุ่งสร้าง "ํYRU Core Team" ให้เป็นทีมต้นแบบในการรวมพลัง "ร่วมคิด รวมทำ นำพัฒนา" หรือ ทีม "Hearts Heads and Hands : 3'Hs YRU"  โดยจัดกิจกรรมเปิดตัวทีม "Lunch Talk" เมื่อ 3 ธ.ค.58 ณ ห้องประชุมหงส์แก้วฟ้า คณะวิทยาการจัดการ การเปิดตัวของทีมครั้งนี้ มีท่านอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ เป็นหัวหน้าทีม กล่าวต้อนรับและให้โอวาทและทิศทางการพัฒนา มรย. ในระยะ 15 ปีข้างหน้า รวมทั้งการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา คุณภาพองค์กรในระยะสั้น คือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นี้



      การสร้างทีม YRU Core Team นี้เป็นการผสมผสานทีมระหว่างผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร จากทุกหน่วย ระหว่างผู้ใหญ่ในองค์กรที่มากด้วยประสบการณ์ แบบอย่างที่ดี ให้คำปรึกษา (อายุ 50 ปีขึ้นไป 22%) กลุ่มกลาง กำลังหลักสร้างองค์กร (อายุ 40 ปีขึ้นไป 55%) กลุ่มเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ อายุต่ำกว่า 40 ปี 27%) รวม 59 คน ผู้บริหาร 19 คน รวมทั้งหมด 78 คน เป้าหมายสร้างพลัง คือ ร่วมกันคิด รวมทำ นำพัฒนา กำหนดทิศทางการพัฒนา มรย.ของเราใน 15 ปีข้างหน้า พร้อมกับขยายแนวคิดของทีมไปยังทุคนในองค์กร รวมทั้งสร้างทีมใหม่ๆ ที่มีแนวคิดพัฒนาในทิศทางเดียวกัน มุ่งสร้าง มรย.ให้เป็นคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้อย่าวแท้จริงใน ระยะ 5-15 ปี ประกอบด้วย
     สำหรับจำนวนกรรมการดำเนินงาน 59 คน ผสมผสานระหว่างบุคลากรของ มรย. จากกลุ่มต่างๆ มีที่มาจาก คือ การน้อมนำแนวทางการทรงงานของรัชการที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์เป็นนักพัฒนา เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และผู้เป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังเป็นจำนวนโครงการในการนำเสนอวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารปัจจุบันที่เสนอโครงการเด่น 59 โครงการตามวิสัยทัศน์ของการบริหารองค์กร และที่สอดคล้องกับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้น "วาระคุณภาพในทุกมิติ" ขององค์กร โดยเฉพาะบัณฑิต ทั้งนี้เพื่อมุ่งไปสู่กับวิสัยทัศน์องค์กร คือ การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ซึ่งมีตัวชี้วัดสำคัญคือ บัณฑิตคุณภาพ คณาจารย์บุคลากรเป็นที่พึ่งชุมชน บริการคุณภาพสู่ชุมชน เป็นต้น

[ภาพประกอบ...]

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มรย.ร่วม มทส. ลงนาม MoU ความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร


ภาพประกอบเพิ่มเติม...
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09:00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา : มรย. (Yala Rajabhath University: YRU) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี: มทส. (Surunaree University of Technology: SUT) ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี ลงนามในบันทึกข้อตกลง พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้มีเกียรติจากทั้งสองมหาวิทยาลัย รวมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ประธานมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร  และ คุณสุรินทร์ มณีดุลย์ประธานมูลนิธิภูมิพลัง พลังงานสะอาด พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มลังศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลัก ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามดังกล่าวด้วย
        วัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ 1) เพื่อร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัย ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร (Hala Food Valley) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี มรย.เป็นผู้ขับเคลื่อน และ มทส.เป็นที่ปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชการ การจัดฝึกอบรม สัมมนา การดำเนินงานโครงการร่วมกันหรือกิจกรรมใด 2) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล 3) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลคค่าและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และ 4) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

       บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีขอบเขตความร่วมมือร่วมกันได้แก่ 1) ร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อวางโครงสร้างการเป็นผู้ดำเนินการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร (Halal Food Valley) ในรูปแบบของการให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการ การจัดฝึกอบรม สัมมนา การดำเนินโครงการร่วมกัน หรือกิจกรรมอื่นใดแก่บุคลากรที่ได้รับมอบหมายของ มรย. 2) ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และ 3) ให้ความร่วมมือด้านอื่นๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
        สำหรับการดำเนินงานตามข้อตกลงนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 และหากมีความประสงค์จะขยายเวลาความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ สามารถขยายได้คราวละไม่เกิน 2 ปี
        ในการดำเนินงานตามข้อตกลงฉบับนี้ ระหว่าง มรย. และ มทส. นับเป็นก้าวแรกที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการร่วมกันอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม OTOP  วิสาหกิจชุมชน รวมถึง SME ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่ เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตอาหารฮาลาล โดยมีตัวชี้วัดเป็น จำนวนผลิตภัณฑ์ (Product) ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ โดยอาศัยความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในด้านสถานที่ตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานที่มีพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริการรองรับประมาณ 200 ไร่ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีคณาจารย์มีงานวิจัยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นฐาน  มหาวิทยาลัยมีกลุ่มชุมชนที่เป็นเครือข่ายเข้มแข็ง โดยใช้ตำบลท่าสาปเป็นโมเดล (Model) ต้นแบบ อีกทั้งความเชื่อมั่นในพื้นฐานความเข้มแข็งของศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่ ความร่วมมือของเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบกับนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่มุ่งมั่นให้เป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้" หรือเป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ผนวกกับความเชี่ยวชาญระดับสูงจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในด้านบุคลากร ด้านความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ด้านประสบการณ์การส่งเสริมการพัฒนาอาหารฮาลาลและวิสาหกิจชุมชน ที่ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนคือ เทคโนธานี (Technopolis) จึงคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน SME ก่อให้เกิดการประกอบธุรกิจและการจ้างงาน  รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย จะได้มีโอกาสในการใช้งานวิจัย การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน นับเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัย กับการบริการวิชาการได้อย่างเด่นชัด ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

[ภาพประกอบเพิ่มเติม...]

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มหกรรมเปิดโลกชมรม: การพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน

กองพัฒนานักศึกษา (http://president.yru.ac.th/stddev) สำนักงานอธิการบดี ร่วมกับ ฝ่ายพัฒนานักศึกษาจากทุกคณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ  พร้อมด้วย องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ (อบศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกันจัดมหกรรมกิจกรรมเปิดโลกชมรมขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม-
ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม...
 อาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ณ บริเวณชั้น 1 และชั้น 2 หอประชุมใหญ่  รวมทั้งบริเวณคณะวิทยาการจัดการ อาคารสำนักวิทยบริการ เพื่อแสดงนิทรรศการกิจกรรมและผลงานของชมรมต่างๆ ที่ผ่านมาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมกับเป็นการเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ของชมรม ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กว่า 2,000 คน  รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเปิดตัวชมรมเกิดใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของชมรมสอดคล้องกับบริบทที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  เช่น ชมรมพลังสันติภาพ  ชมรมต้นกล้าร่วมใจจิตอาสา ชมรมทูตสันติภาพ ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ ชมรมวิทยุสื่อสารและอาสาพยาบาล เป็นต้น
      นอกจากนั้น ยังมีชมรมเกิดใหม่ที่เน้นการพัฒนาและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางวิชาการที่เกิดขึ้นใหม่ๆ สอดคล้องกับการส่งเสริมอัตลักษณ์บัณฑิต "เก่งไอที มีจิตอาสา สู้งาน และสื่อสารภาษามลายูกลางได้" อยู่หลายชมรม  เช่น ชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา  ชมรมภาษามลายู  ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชมรมดาราศาสตร์  เป็นต้น

   นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมเปิดโลกชมรมครั้งนี้ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการแข่งขันทางด้านวิชาการเสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติอีกด้วย เช่น การแข่งขันโต้วาที  การแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นับเป็นการสร้างบรรยากาศที่เน้นและกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาของ มรย.  และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารที่นำเสนอไว้ในประเด็นของ "การพัฒนาชมรมต้นแบบ" ให้เป็นชมรมอย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการคุณภาพ (PDCA) เป็นแนวทางการพัฒนา และยังเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษาโดยใช้กิจกรรมนอกชั้นเรียนเป็นเครื่องมือ ที่มหาวิทยาลัยเร่งพัฒนาให้เกิดคุณภาพแก่บัณฑิตในขณะนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาของ มรย. ทุกคน ได้ผ่านการทำงานในชมรม การปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง ได้รับประสบการณ์ตรงทำให้เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม สู้งาน วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือ สร้างบัณฑิตที่มีจิตอาสา สร้างความดี เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงการความร่วมมือระหว่าง มรย.และ มทส. กับ Halal Food Valley: การพัฒนาศูนย์บริการอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร

บรรยากาศการประชุมปรึกษาหารือพัฒนาโครงการ
 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประสานความร่วมมือเสนอแนวคิดการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและการเกษตรฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  "โครงการบริการวิชาการและจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล" โดยมุ่งเป้าพัฒนาให้ มรย. เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการพัฒนาอุตสหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน  โดยมีมูลนิธิภูมิพลัง พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมเชิงพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเครือข่ายประชุมปรึกษาหารือด้วยในการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย 
   การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี และคณะผู้บริหาร พร้อมคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกับ คณะคณาจารย์ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา จากหน่วยงาน "เทคโนธานี" และ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มะรังศรี  พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.อุเทน ลีตน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล  และคุณปิยมาศ มหาบุญญานนท์ บุคลากรประจำเทคโนธานี

ซึ่งการประชุมปรึกษาหารือในที่นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการ กำหนดแผนดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน กรอบการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีต้นแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คือ เทคโนธานี ซึ่งมีส่วนของ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิด "ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" มุ่งไปสู่ Halal Food Valley อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้นี้


ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บรรยากาศร่มรื่นบนพื้นที่กว่า 200 ไร่
     สำหรับโครงการ"ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา"  มีเป้าหมายการใช้พื้นที่ดำเนินการที่ "ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน" อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทาง 4 ช่องจราจร (สาย 418)  ที่มีจุดแข็งคือ อยู่ศูนย์กลางระหว่าง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส การคมนาคมจากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 20 นาที และจากจังหวัดยะลา ประมาณ 15 นาที  จากจังหวัดนราธิวาส ประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น จุดแข็งของ มรย. ได้แก่ อยู่ในพื้นที่กลางใจเมือง ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม มีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมกับมีคณะที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมศาสตร์และการวิจัยแขนงต่างๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาตร์เทคโนโลยีและการเกษตร โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีสาขาวิชาด้านการออกแบบนวัตกรรมศิลป์ คณะวิทยาการจัดการที่มีสาขาวิชาด้านการตลาด บริหารธุรกิจ บัญชี การสื่อสารมวล เป็นต้น  รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาที่ผ่านกระบวนการวิจัยด้านอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่องของนักวิจัย มรย. เช่น ส้มแขก ขมิ้นชัน หมี่เบตง ข้าวยำ ข้าวเกรียบปลา ประเภทสัตว์ ได้แก่ แพะ โค และไก่เบตง เป็นต้น
     ในการพัฒนาศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวจะประกอบด้วยส่วนงานสำคัญๆ ในเบื้องต้น เช่น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม หน่วยประสานความร่วมมืออุตสาหกรรม หน่วยบริการทางเทคนิคและโรงงานต้นแบบ และหน่วยบริการทางธุรกิจ ซึ่งจะใช้ต้นแบบจาก "เทคโนธานี" ของมหาวิทยาลัยสุรนารี และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง ประโยชน์ที่จะเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในโครงการนี้ ได้แก่
     สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่เทคโนธานี พร้อมมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ร่วมกันทั้งสองมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นี้ และผลการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว จะได้นำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คณะผู้บริหาร มรย. ลงพื้นที่จัดการเรียนการสอนเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการปฏิรูปองค์กรสู่คุณภาพมาตรฐาน


ภาพประกอบเพิ่มเติม
เช้าวันนี้ วันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2558 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำทีมโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี พร้อมด้วยรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ คณะบดี และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมลงพื้นที่อาคารและห้องเรียน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษาและผู้สอน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นนโยบายของท่านอธิการบดีที่ใช้หลักการบริหารตามแนวทางการบริหารงานตามแนวพระราชดำริ คือ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและรับทราบปัญหาเชิงประจักษ์ ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต นำกลับมาเพื่อเร่งกำหนดแผนและโครงการปฏิรูปพัฒนาการเรียนการสอนเชิงรุกให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีข้างหน้า  ทั้งนี้ คุณภาพการให้บริการสนับสนุนอาจารย์ การพัฒนาอาจารย์ผู้สอน นับเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลโดยตรงต่อนักศึกษาหรือบัณฑิตของ มรย. ที่จะออกไปรับใช้สังคมในอนาคต ให้เป็นบัณฑิตที่สามารถ "เก่งวิชา ปฏิบัติงานได้ ทำงานเป็น และมีจิตอาสา"
   ประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้ได้รับการแก้ไขและพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ได้แก่ ความพร้อมของอาคารสถานที่ ห้องเรียน โสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเป็นห้องเรียนมาตรฐานทุกห้องเรียน มีโสตทัศนูปกรณ์ จอภาพ Projector และระบบเสียง แต่ยังขาดการซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้งานได้อย่างทันเวลาเมื่อชำรุด รวมทั้งมาตรฐานการให้บริการของงานอาคารสถานที่ งานโสตทัศนูปกรณ์ งานระบบเครือข่ายที่เป็นมาตรฐาน มาตรการประหยัดพลังงาน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน (การเรียนรู้) ของนักศึกษา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปตัวผู้สอนก่อน ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีคิด (Change Mind Set) ปรับวิธีสอนที่เน้นการเรียนรู้มากกว่าการสอน เน้นกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning เน้นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning By Doing) เน้นการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ต้องให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มากกว่าผู้สอนเป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือ การกำหนดแนวทางให้ผู้สอนทุกท่าน ได้เน้นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่นักศึกษาในกระบวนการเรียนรู้ด้วย ได้แก่ การตรงต่อเวลา การมีระเบียบวินัย มีจิตอาสา การรู้จักกาลเทศะ เป็นต้น   ทั้งนี้เพื่อสร้างบัณฑิต มรย. ให้เป็นส่วนสำคัญของการสร้าง "คลังปัญญา" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
    ซึ่งกิจกรรมเยี่ยมห้องเรียนของคณะผู้บริหารดังกล่าว ถือเป็นนโยบายของท่านอธิการบดีและมหาวิทยาลัยฯ ที่จะดำเนินการกิจกรรม "เยี่ยมห้องเรียน" อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ และระดับหลักสูตรต่อไป

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเตรียมจัดงาน "Open Books Open Houses Open Hearts"

ภาพประกอบเพิ่มเติม...
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 เวลา 11.00-12.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะกรรมการศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเทศบาลนครยะลา จัดประชุมร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมสภา เพื่อร่วมปรึกษาหารือเตรียมจัดงานพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ งาน  "Open Books Open Houses Open Hearts: เปิดโลกความรู้สู่ใจคนชายแดนใต้"  ในต้นปี 2559 คือ ระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2559 ณ บริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
   ผลจากการประชุมคณะกรรมการระหว่างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ทั้งในและนอกพื้นที่ ได้แก่ ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จังหวัดยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เทศบาลนครยะลา สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายหน่วยงาน มีมติลงความเห็นร่วมกันว่าจะร่วมเป็นเครือข่ายจัดงาน  "Open Books Open Houses Open Hearts: เปิดโลกความรู้สู่ใจคนชายแดนใต้" ขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2559 ณ บริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
    สำหรับมีวัตถุประสงค์ของการเตรียมการจัดงานครั้งนี้ที่สำคัญ คือเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ ตำรา เอกสารสิ่งพิมพ์ ความก้าวหน้าทางวิชาการ  เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างนิสัยรักการอ่าน สร้างความสนใจการศึกษาต่อในหลักสูตรต่างๆ ระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หลักสูตรอาชีพระยะสั้น  เปิดเวทีการแสดงออกด้านการแข่งขันวิชาการ การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ ที่สำคัญเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่สำคัญที่สุดก็คือเพื่อรวมพลังเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ในและนอกพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
   ในส่วนของกิจกรรมสำคัญที่จัดในงาน "Open Books Open Houses Open Hearts: เปิดโลกความรู้สู่ใจคนชายแดนใต้" ครั้งนี้ในเบื้องต้น (แนวคิด) ได้แก่
  • กิจกรรมมหกรรมวิชาการและตลาดนัดหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย
  1. นิทรรศการประชาสัมพันธ์และแสดงผลงานของหลักสูตรต่างๆ ที่เปิดสอนทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาภาคเอกชน ทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จำนวนกว่า 200 บูธ
  2. การแข่งขันทางวิชาการทุกระดับ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ได้แก่ การแข่งขันการโต้วาที การกล่าวสุนทรพจน์ การเล่านิทานสามภาษา การแสดง Science Show การแข่งขันตอบปัญหา
  3. การส่งเสริมรักการอ่าน เป็นกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนรักการอ่านจากศูนย์บรรณสารสนเทศ และ TK Park  
  4. กิจกรรมเสวนา/บรรยายแนะแนวการศึกษาต่อ
  • กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม
  1. การแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่งและวงดนตรีสากล
  2. การประกวด "ชายแดนใต้ Got Talent" 
  3. การแสดงบนเวทีอื่นๆ เช่น  การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การแสดงดนตรีพื้นบ้าน  หรืออื่นๆ
  4. การร่วมกิจกรรมกับผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารานักเขียน  นักร้องนักเขียน นักดนตรีนักเขียน หรือนักพูดที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  
  5. การออกร้านของดีสามจังหวัดชายแดนใต้ 
  • กิจกรรม Books Fair  
  1. การแสดงบูธนิทรรศการศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏและที่เกี่ยวข้อง
  2. การออกร้านจำหน่ายหนังสือกว่า 30,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ
  3. ร้านขายสินค้าเครื่องเขียน ของที่ระลึกทันสมัย
      สำหรับเป้าหมายของผู้เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน รวมทั้งบุคลากรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 คน นับเป็นมหกรรมด้านการส่งเสริมการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ในต้นปีหน้าอีกครั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับความคืบหน้าของการจัดงาน จะได้นำเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไป

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

คณะผู้บริหาร มรย.และผู้บริหารระดับกลาง ระดับปฏิบัติการร่วมอบรมปฏิบัติการ "พัฒนาสมรรถนะหลักองค์กร"

"จุดเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปสู่ "มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้"


ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน 2558 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และผู้บริหารหน่วยงานระดับกลาง ระดับปฏิบัติการ พร้อมบุคลากรงานการเจ้าหน้าที่ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี กว่า 70 คน ร่วมประชุมปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะจำเป็นขององค์กร (Core Competency) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (http://www.kmutt.ac.th) ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ดีในการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ จนกระทั่งพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์  เป็นประธานในพิธีเปิดและให้โอวาทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กร
    สำหรับแนวคิดและประสบการณ์ที่ได้ผู้เข้าอบรมได้รับจากการอบรมครั้งนี้ที่สำคัญ คือ แนวคิดในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์องค์กร โดยความร่วมมือของทุกคนในองค์กร คือ การพัฒนา มรย.ของเราให้ก้าวเป็น มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ (The WISDOM Bank University) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยเน้นถึงการกำหนดและทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกันอย่างชัดเจน กำหนดสมรรถนะหลักขององค์กร สร้างค่านิยมองค์กรร่วมขององค์กร ให้สามารถส่งเสริมในการก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กร เน้นสร้างความรักความผูกพัน มององค์กรเป็นสำคัญ ทุกคนทำงานหนักและพัฒนางานให้มีคุณภาพเพื่อองค์กร จัดระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีทิศทางชัดเจน รวมทั้งการจัดทำแผนกลยุทธ์องค์กรระยะยาว เช่น 15 ปี  และต้องดำเนินการตามแผนฯ อย่างต่อเนื่อง



ผลจากการประชุมปฏิบัติการ ได้กำหนดสมรรถนะหลัก (Core Competency) ที่จะส่งเสริมให้วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก้าวไปสู่ "มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ

1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation)
2. การบริการที่ดี (Service Mind)
3. การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงาน (Expertise)
4. การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม (Intergrity)
5. การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
หรืออาจเขียนให้คล้องจอง สามารถจำได้ง่าย เป็นแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะหลักของตนเองให้สอดคล้องกับสมรรถนะหลักของ "มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" ดังนี้

"มุ่งผลสัมฤทธิ์  จิตบริการที่ดี  มีความเชี่ยวชาญในงาน เน้นการทำงานเป็นทีม ที่ยึดมั่นความชอบธรรมและจริยธรรม"

   ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ก็จะนำสมรรถนะหลัก 5 ด้าน ข้างต้น ไปขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรให้เกิดแก่บุคลากรทุกท่าน เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลง มรย. ของเราให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลและภาพเพิ่มเติมจากไทยนิวส์: 
http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC5808310010036

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

มรย.เร่งส่งเสริมคณาจารย์และนักศึกษาเน้นเรียนรู้โดยใช้ไอซีทีเสริมทักษะศตวรรษที่ 21

ภาพและรายละเอียดเพิ่มเติม...
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เร่งส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้ไอซีทีสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะสื่อ เทคโนโลยี โดยศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที (http://elearning.yru.ac.th/center) งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Information Technology for Education: ITE) สำนักวิทยบริการฯ เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมสร้างเจตคติ ให้ความรู้และเพิ่มทักษะทั้งคณาจารย์และนักศึกษา มีกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วดังนี้
  • วันที่ 26 สิงหาคม 2558 จัดกิจกรรม "กิจกรรมประกวด Google Ambassador" ส่งเสริมและสร้างต้นแบบนักศึกษา มรย. เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ Google App for Education สำหรับการเรียนรู้และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจัด ณ ลานไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ (ICT Learning Space) ชั้น 2 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักวิทยบริการ ซึ่ง มรย.ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MoU) ใช้ Google App for Education พัฒนาทักษะการเรียนรู้ทั้งของบุคลากรและนักศึกษา
  • วันที่ 17-18 สิงหาคม 2558 จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่คณาจารย์และนักศึกษา เรื่อง การใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  ณ ห้องปฏิบัติการอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีเพื่อการศึกษา รศ.ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  
  • วันที่  10-11 สิงหาคม 2558 จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหม่ เรื่อง การจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่งขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาทักษะผู้สอนให้ใช้อีเลิร์นนิ่งและ Google App for Education จัดการเรียนรู้ในลักษณะ Cloud Classroom มีเป้าหมายอาจารย์ร้อยละ 80 มีรายวิชาในระบบอีเลิร์นนิ่งในปี พ.ศ. 2559
  • วันที่ 7-8 สิงหาคม  2558  จัดกิจกรรมการพัฒนา Google Ambassadors ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 25-301 ชั้น 3 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม สิงหาคม 2558 โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวต้อนรับนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนั้น  มรย. ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ผู้สอนและผู้เรียน มีอัตลักษณ์ "เก่งไอที" เพื่อใช้เป็นทักษะในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพในอนาคต  โดยเตรียมโครงการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ไว้หลายโครงการและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
  • โครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่งขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นสูงให้อาจารย์ผู้สอน รับผิดชอบโดย ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที (http://elearning.yru.ac.th/center) งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  • โครงการพัฒนาอัตลักษณ์เก่งไอทีและการทดสอบมาตรฐานด้านไอที รับผิดชอบโดยศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที (http://elearning.yru.ac.th/center) งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ร่วมกับ งานมาตรฐานการศึกษา กองบริการการศึกษา
  • โครงการฝึกอบรมและพัฒนาอัตลักษณ์ภาษามลายูกลางออนไลน์ รับผิดชอบโดยศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ร่วมกับ งานมาตรฐานการศึกษา กองบริการการศึกษา
  • โครงการอบรมและสอบวัดมาตรฐานภาษาอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ รับผิดชอบโดยศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ร่วมกับ งานมาตรฐานการศึกษา กองบริการการศึกษา
  • โครงการอบรมและสอบวัดมาตรฐานความรู้สู่อาเซียนออนไลน์ รับผิดชอบโดยศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา ร่วมกับ งานมาตรฐานการศึกษา กองบริการการศึกษา
  • โครงการพัฒนาระบบเรียนและทดสอบออนไลน์ รายวิชาพื้นฐาน รับผิดชอบโดยกองบริการการศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการวิชาพื้นฐาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที (http://elearning.yru.ac.th/center) งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
    จากโครงการเหล่านี้ข้างต้น ล้วนเป็นโครงการที่ส่งเสริมและเน้นการปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยฯ ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเก่งไอที มีทักษะในการเรียนรู้ การประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานในระดับอาเซียนต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์อธิการบดี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ ที่เน้นการใช้ไอซีทีเพื่อการบริหารจัดการองค์กรและการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมการใช้ไอซีทีและภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษามลายู


วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนาระบบ e-HR : นโยบายการพัฒนา มรย.ให้เป็น e-WISDOM Bank University

นโยบายนำระบบสารสนเทศมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารจัดการองค์กร นับเป็นนโยบายเร่งด่วนของ มรย. โดยเฉพาะ ระบบสารสนเทศจัดการทรัพยากรมนุษย์ (e-HR) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ที่เป็นระบบที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้เป็น e-WISDOM University ได้อย่างชัดเจน
    มหาวิทยาลัยฯ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันวางแผนในการปรับปรุงและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการทรัพยากรมนุษย์ (บุคลากร) โดยร่วมกันระหว่างทีมงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร สำนักวิทยบริการฯ และทีมงานงานการเจ้าหน้าที่ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี โดยได้จัดประชุมวางแผนการขับปรับปรุงระบบ e-HR ดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558  ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 20  ทั้งนี้ ระบบ e-HR ได้มีการขับเคลื่อนให้ใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ ทันสมัย สามารถเข้าถึงสารสนเทศได้ผ่านทางเว็บไซต์ด้วยอุปกรณ์ Smart Phone และสามารถตอบสนองความต้องการสารสนเทศด้านบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งขององค์กรและของผู้บริหาร จึงต้องเร่งปรับปรุงระบบให้สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าว รวมถึงการให้บริการแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ในการตรวจสอบข้อมูลแฟ้มประวัติส่วนบุคคลของตนเองผ่านทางออนไลน์ได้โดยสะดวก




ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลของ มรย. มีโครงสร้างฐานข้อมูลและแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศดังแผนภาพต่อไปนี้