วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มรย.ร่วม มทส. ลงนาม MoU ความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร


ภาพประกอบเพิ่มเติม...
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09:00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา : มรย. (Yala Rajabhath University: YRU) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี: มทส. (Surunaree University of Technology: SUT) ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี ลงนามในบันทึกข้อตกลง พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้มีเกียรติจากทั้งสองมหาวิทยาลัย รวมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ประธานมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร  และ คุณสุรินทร์ มณีดุลย์ประธานมูลนิธิภูมิพลัง พลังงานสะอาด พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มลังศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลัก ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามดังกล่าวด้วย
        วัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ 1) เพื่อร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัย ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร (Hala Food Valley) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี มรย.เป็นผู้ขับเคลื่อน และ มทส.เป็นที่ปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชการ การจัดฝึกอบรม สัมมนา การดำเนินงานโครงการร่วมกันหรือกิจกรรมใด 2) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล 3) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลคค่าและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และ 4) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

       บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีขอบเขตความร่วมมือร่วมกันได้แก่ 1) ร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อวางโครงสร้างการเป็นผู้ดำเนินการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร (Halal Food Valley) ในรูปแบบของการให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการ การจัดฝึกอบรม สัมมนา การดำเนินโครงการร่วมกัน หรือกิจกรรมอื่นใดแก่บุคลากรที่ได้รับมอบหมายของ มรย. 2) ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และ 3) ให้ความร่วมมือด้านอื่นๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
        สำหรับการดำเนินงานตามข้อตกลงนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 และหากมีความประสงค์จะขยายเวลาความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ สามารถขยายได้คราวละไม่เกิน 2 ปี
        ในการดำเนินงานตามข้อตกลงฉบับนี้ ระหว่าง มรย. และ มทส. นับเป็นก้าวแรกที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการร่วมกันอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม OTOP  วิสาหกิจชุมชน รวมถึง SME ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่ เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตอาหารฮาลาล โดยมีตัวชี้วัดเป็น จำนวนผลิตภัณฑ์ (Product) ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ โดยอาศัยความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในด้านสถานที่ตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานที่มีพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริการรองรับประมาณ 200 ไร่ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีคณาจารย์มีงานวิจัยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นฐาน  มหาวิทยาลัยมีกลุ่มชุมชนที่เป็นเครือข่ายเข้มแข็ง โดยใช้ตำบลท่าสาปเป็นโมเดล (Model) ต้นแบบ อีกทั้งความเชื่อมั่นในพื้นฐานความเข้มแข็งของศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่ ความร่วมมือของเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบกับนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่มุ่งมั่นให้เป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้" หรือเป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ผนวกกับความเชี่ยวชาญระดับสูงจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในด้านบุคลากร ด้านความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ด้านประสบการณ์การส่งเสริมการพัฒนาอาหารฮาลาลและวิสาหกิจชุมชน ที่ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนคือ เทคโนธานี (Technopolis) จึงคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน SME ก่อให้เกิดการประกอบธุรกิจและการจ้างงาน  รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย จะได้มีโอกาสในการใช้งานวิจัย การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน นับเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัย กับการบริการวิชาการได้อย่างเด่นชัด ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

[ภาพประกอบเพิ่มเติม...]