วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มหกรรมเปิดโลกชมรม: การพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน

กองพัฒนานักศึกษา (http://president.yru.ac.th/stddev) สำนักงานอธิการบดี ร่วมกับ ฝ่ายพัฒนานักศึกษาจากทุกคณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ  พร้อมด้วย องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ (อบศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกันจัดมหกรรมกิจกรรมเปิดโลกชมรมขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม-
ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติม...
 อาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ณ บริเวณชั้น 1 และชั้น 2 หอประชุมใหญ่  รวมทั้งบริเวณคณะวิทยาการจัดการ อาคารสำนักวิทยบริการ เพื่อแสดงนิทรรศการกิจกรรมและผลงานของชมรมต่างๆ ที่ผ่านมาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมกับเป็นการเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ของชมรม ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กว่า 2,000 คน  รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเปิดตัวชมรมเกิดใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของชมรมสอดคล้องกับบริบทที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  เช่น ชมรมพลังสันติภาพ  ชมรมต้นกล้าร่วมใจจิตอาสา ชมรมทูตสันติภาพ ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ ชมรมวิทยุสื่อสารและอาสาพยาบาล เป็นต้น
      นอกจากนั้น ยังมีชมรมเกิดใหม่ที่เน้นการพัฒนาและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางวิชาการที่เกิดขึ้นใหม่ๆ สอดคล้องกับการส่งเสริมอัตลักษณ์บัณฑิต "เก่งไอที มีจิตอาสา สู้งาน และสื่อสารภาษามลายูกลางได้" อยู่หลายชมรม  เช่น ชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา  ชมรมภาษามลายู  ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชมรมดาราศาสตร์  เป็นต้น

   นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมเปิดโลกชมรมครั้งนี้ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการแข่งขันทางด้านวิชาการเสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติอีกด้วย เช่น การแข่งขันโต้วาที  การแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นับเป็นการสร้างบรรยากาศที่เน้นและกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาของ มรย.  และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารที่นำเสนอไว้ในประเด็นของ "การพัฒนาชมรมต้นแบบ" ให้เป็นชมรมอย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการคุณภาพ (PDCA) เป็นแนวทางการพัฒนา และยังเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษาโดยใช้กิจกรรมนอกชั้นเรียนเป็นเครื่องมือ ที่มหาวิทยาลัยเร่งพัฒนาให้เกิดคุณภาพแก่บัณฑิตในขณะนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาของ มรย. ทุกคน ได้ผ่านการทำงานในชมรม การปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง ได้รับประสบการณ์ตรงทำให้เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม สู้งาน วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือ สร้างบัณฑิตที่มีจิตอาสา สร้างความดี เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงการความร่วมมือระหว่าง มรย.และ มทส. กับ Halal Food Valley: การพัฒนาศูนย์บริการอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร

บรรยากาศการประชุมปรึกษาหารือพัฒนาโครงการ
 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประสานความร่วมมือเสนอแนวคิดการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและการเกษตรฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  "โครงการบริการวิชาการและจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล" โดยมุ่งเป้าพัฒนาให้ มรย. เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการพัฒนาอุตสหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน  โดยมีมูลนิธิภูมิพลัง พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมเชิงพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเครือข่ายประชุมปรึกษาหารือด้วยในการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย 
   การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี และคณะผู้บริหาร พร้อมคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกับ คณะคณาจารย์ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา จากหน่วยงาน "เทคโนธานี" และ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเรือง มะรังศรี  พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.อุเทน ลีตน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล  และคุณปิยมาศ มหาบุญญานนท์ บุคลากรประจำเทคโนธานี

ซึ่งการประชุมปรึกษาหารือในที่นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการ กำหนดแผนดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน กรอบการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีต้นแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คือ เทคโนธานี ซึ่งมีส่วนของ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิด "ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" มุ่งไปสู่ Halal Food Valley อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้นี้


ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บรรยากาศร่มรื่นบนพื้นที่กว่า 200 ไร่
     สำหรับโครงการ"ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาลเพื่อวิสากิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา"  มีเป้าหมายการใช้พื้นที่ดำเนินการที่ "ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน" อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทาง 4 ช่องจราจร (สาย 418)  ที่มีจุดแข็งคือ อยู่ศูนย์กลางระหว่าง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส การคมนาคมจากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 20 นาที และจากจังหวัดยะลา ประมาณ 15 นาที  จากจังหวัดนราธิวาส ประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น จุดแข็งของ มรย. ได้แก่ อยู่ในพื้นที่กลางใจเมือง ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม มีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมกับมีคณะที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมศาสตร์และการวิจัยแขนงต่างๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาตร์เทคโนโลยีและการเกษตร โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีสาขาวิชาด้านการออกแบบนวัตกรรมศิลป์ คณะวิทยาการจัดการที่มีสาขาวิชาด้านการตลาด บริหารธุรกิจ บัญชี การสื่อสารมวล เป็นต้น  รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาที่ผ่านกระบวนการวิจัยด้านอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่องของนักวิจัย มรย. เช่น ส้มแขก ขมิ้นชัน หมี่เบตง ข้าวยำ ข้าวเกรียบปลา ประเภทสัตว์ ได้แก่ แพะ โค และไก่เบตง เป็นต้น
     ในการพัฒนาศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวจะประกอบด้วยส่วนงานสำคัญๆ ในเบื้องต้น เช่น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม หน่วยประสานความร่วมมืออุตสาหกรรม หน่วยบริการทางเทคนิคและโรงงานต้นแบบ และหน่วยบริการทางธุรกิจ ซึ่งจะใช้ต้นแบบจาก "เทคโนธานี" ของมหาวิทยาลัยสุรนารี และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง ประโยชน์ที่จะเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในโครงการนี้ ได้แก่
     สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่เทคโนธานี พร้อมมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ร่วมกันทั้งสองมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นี้ และผลการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว จะได้นำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คณะผู้บริหาร มรย. ลงพื้นที่จัดการเรียนการสอนเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการปฏิรูปองค์กรสู่คุณภาพมาตรฐาน


ภาพประกอบเพิ่มเติม
เช้าวันนี้ วันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2558 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำทีมโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี พร้อมด้วยรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ คณะบดี และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมลงพื้นที่อาคารและห้องเรียน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษาและผู้สอน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นนโยบายของท่านอธิการบดีที่ใช้หลักการบริหารตามแนวทางการบริหารงานตามแนวพระราชดำริ คือ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและรับทราบปัญหาเชิงประจักษ์ ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต นำกลับมาเพื่อเร่งกำหนดแผนและโครงการปฏิรูปพัฒนาการเรียนการสอนเชิงรุกให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีข้างหน้า  ทั้งนี้ คุณภาพการให้บริการสนับสนุนอาจารย์ การพัฒนาอาจารย์ผู้สอน นับเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลโดยตรงต่อนักศึกษาหรือบัณฑิตของ มรย. ที่จะออกไปรับใช้สังคมในอนาคต ให้เป็นบัณฑิตที่สามารถ "เก่งวิชา ปฏิบัติงานได้ ทำงานเป็น และมีจิตอาสา"
   ประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้ได้รับการแก้ไขและพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ได้แก่ ความพร้อมของอาคารสถานที่ ห้องเรียน โสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเป็นห้องเรียนมาตรฐานทุกห้องเรียน มีโสตทัศนูปกรณ์ จอภาพ Projector และระบบเสียง แต่ยังขาดการซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้งานได้อย่างทันเวลาเมื่อชำรุด รวมทั้งมาตรฐานการให้บริการของงานอาคารสถานที่ งานโสตทัศนูปกรณ์ งานระบบเครือข่ายที่เป็นมาตรฐาน มาตรการประหยัดพลังงาน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน (การเรียนรู้) ของนักศึกษา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปตัวผู้สอนก่อน ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีคิด (Change Mind Set) ปรับวิธีสอนที่เน้นการเรียนรู้มากกว่าการสอน เน้นกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning เน้นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning By Doing) เน้นการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ต้องให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มากกว่าผู้สอนเป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือ การกำหนดแนวทางให้ผู้สอนทุกท่าน ได้เน้นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่นักศึกษาในกระบวนการเรียนรู้ด้วย ได้แก่ การตรงต่อเวลา การมีระเบียบวินัย มีจิตอาสา การรู้จักกาลเทศะ เป็นต้น   ทั้งนี้เพื่อสร้างบัณฑิต มรย. ให้เป็นส่วนสำคัญของการสร้าง "คลังปัญญา" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
    ซึ่งกิจกรรมเยี่ยมห้องเรียนของคณะผู้บริหารดังกล่าว ถือเป็นนโยบายของท่านอธิการบดีและมหาวิทยาลัยฯ ที่จะดำเนินการกิจกรรม "เยี่ยมห้องเรียน" อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ และระดับหลักสูตรต่อไป